5 โบรกเชียร์ “ซื้อ” GFC เคาะเป้าสูง 11.30 บ. ชูจุดเด่นการแพทย์เฉพาะทาง “ผู้มีบุตรยาก”
GFC สุดฮอต 5 โบรกเกอร์ ประสานเสียงประเมินราคาเป้าหมายสูงสุดที่ระดับ 11.30 บาท จากราคาไอพีโอ 7 บาทต่อหุ้น จ่อเปิดสาขาใหม่ 2 แห่ง “สุวรรณภูมิ-พระราม 9 และ คลินิกสาขาอุบลราชธานี” หนุนผลงานปี 67 เติบโตโดดเด่น
บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC ชูจุดเด่นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก รายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการ ในวันที่ 13 กันยายน 2566
ล่าสุด 5 โบรกเกอร์ ได้แก่ บล.บียอนด์ , บล.โกลเบล็ก , บล.ฟินันเซีย ไซรัส , บล.กรุงศรี พัฒนสิน และ บล.ดาโอ ประสานเสียง GFC เป็นหุ้นน้องใหม่ IPO น่าลงทุนและมีความโดนเด่น ประเมินราคาเป้าหมายที่ระดับ 9 – 11.30 บาทต่อหุ้น จากราคาเสนอขาย IPO ที่ 7.00 บาทต่อหุ้น เนื่องจาก GFC เป็นหุ้นเฉพาะทางด้านการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ซึ่งจัดอยู่ในหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์ที่น่าจับตา
บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาเป้าหมายที่เหมาะสมของ GFC โดยให้ราคาเป้าหมายที่เหมาสมที่ระดับ 11.30 บาทต่อหุ้น อ้างอิง P/E ปี 2567 ที่ 28 เท่า มองทิศทางการเติบโตทางธุรกิจ GFC จะมีกำไรสุทธิเติบโตในปี 2566 -2568 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 21.3% พร้อมคาดการณ์อัตรากำไรสุทธิของ GFC จะเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2566 เป็น 21% ในปี 2568
ทั้งนี้จากการขยายสาขาใหม่ “สุวรรณภูมิ-พระราม 9 และ คลินิกสาขาอุบลราชธานี” จะเป็นการรองรับการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะผลักดันการเติบโตของ GFC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ให้ราคาเหมาะสม “GFC” ที่ 10.10 บาทต่อหุ้น โดยมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากของประเทศไทย ทั้งจากคนไข้ต่างชาติในแง่ Medical Tourism ประกอบกับอัตราค่าบริการการรักษาที่ถูกกว่าประเทศในภูมิภาคราว 40% และถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วราว 68%
นอกจากนี้ จำนวนประชากรไทยที่เกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภาวะ มีบุตรยากจึงเป็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจรักษาภาวะมีบุตรยากของประเทศไทยจากคนไข้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมประเมินรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2566 อยู่ที่ 312 ล้านบาท และในปี 2567 ประเมินรายได้อยู่ที่ 479 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 32% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุน คือ
1) คลินิกสาขาเดิมพระราม 3 เติบโตตามแนวโน้มจำนวนคนไข้ที่เข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด 19 ที่คลี่คลายลง ซึ่งคาดจะเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี และ 2) การขยายคลินิกสาขาใหม่ 2 แห่ง คือ คลินิกสาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 และคลินิกสาขาอุบลราชธานี ขณะที่กำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 49 ล้านบาท เติบโต 25% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2567 อยู่ที่ 82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 12% ต่อปี
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ GFC ที่ 10.10 บาทต่อหุ้น โดย re-lated PE ของ GFC ที่ระดับ Premium กลุ่มการแพทย์ เนื่องจาก 1) GFC มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันจากจุดเด่นศักยภาพให้บริการครบวงจร มีทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงในตลาด
2) มีการใช้เทคโนโลยี EEVA ร่วมวินิจฉัยและประเมินตัวอ่อน ทำให้ในไตรมาส 1/2566 มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์จากวิธี ICSI และวิธี ICSI +NGS ที่ 68% และ 73% ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 45%
3) มีโอกาสเติบโตสูงจากการเปิด 2 สาขาใหม่ และขยายลูกค้าต่างชาติ จะเป็น S-Curve ใหม่ของการเติบโตระยะยาว 4) ธุรกิจหลักของ GFC อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตขาขึ้น
และ 5) การให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากเป็นบริการเฉพาะกลุ่ม ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อราคาไม่มากและมีอัตราทำกำไรสูงกว่าธุรกิจโรงพยาบาล พร้อมประเมินการเติบโตของ GFC ในปี 2567 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 77 ล้านบาท และในปี 2568 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 91 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปี 32% CAGR จากปัจจัยสนับสนุน
1) รายได้เติบโตต่อปีเพิ่มขึ้น 24% CAGR จากการเปิด 2 สาขาใหม่ทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 2) ปี 2568 เริ่มเห็นผลบวก Economies of scale ของผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มี Gross margin ที่ 45.9% ดีขึ้นจากปี 2567 และ 3) ค่าใช้จ่ายการเงินลดลงตามเงินกู้สถาบันการเงินลดลงในปี 2567-2568
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ให้ราคาเหมาะสม 10 บาท (บน EPS 0.39 บาท ในปี 2567) ด้วยวิธีเปรียบเทียบ Relative PE ของปี 2567 กับค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงพยาบาลที่มีคลินิก IVF เกือบทุกแห่ง และบริษัทต่างประเทศที่ทำคลินิก IVF ซึ่ง เทรด P/E ปี 2567 ที่ระดับ 20.5-25.5 เท่า แม้ GFC เป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่หากเทียบอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของ GFC ปี 2567 ที่ 45% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10-15% ของหุ้นกลุ่ม
ดังนั้นราคาเหมาะสมควรใกล้เคียงค่าเฉลี่ยกลุ่มโรงพยาบาลของไทยที่ระดับ P/E 25.5 เท่า พร้อมทั้งได้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 ของ GFC เติบโต 45% จากการเปิดคลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 และคาดว่าบริษัทจะยังคงศักยภาพในการเติบโตในปี 2566-2567 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากการเปิดคลินิกสาขาใหม่ ที่จะสามารถเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีรายได้บริการตรวจโคโมโซม และฝากไข่เพิ่มมากขึ้นหลังมีขยาย LAB เพิ่มขึ้น
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาเหมาะสมที่ 9 บาทต่อหุ้น อิงค่า PER ปี 2567 ที่ี 25 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากการรักษาภาวะมีบุตรยาก มีความซับซ้อนและต้องการความใส่ใจมากกว่าการรักษาโรคทั่วไป รวมถึงมีอัตราในการทำกำไรมากกว่ารพ.ทั่วไป ทั้งนี้ได้ประเมินกำไรปี 2566 อยู่ที่ 51 ล้านบาท ลดลง 22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2567 ประเมินกำไรอยู่ที่ 78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจากรายได้ปี 2566 เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และในปี 2567 เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาของสุขภาพของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ที่มีความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนคนไข้เข้ารับการรักษามากขึ้น
ขณะที่รายได้เติบโตแต่ในปี 2566 กำไรถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายของพนักงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจากการเตรียมตัวขยายสาขาในช่วงปลายปี 2566 และเชื่อว่าบริษัทจะมีกำไรจะกลับมาเติบโตในปี 2567 จากการขยายฐานคนไข้ทั้งในกรุงเทพฯ และอุบลราชธานี ที่สามารถรองรับทั้งคนไข้ในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ จีน, อินเดีย, ยุโรป, ลาว และกัมพูชา ได้มากขึ้น