พาราสาวะถีอรชุน

หลังจากใช้เวลากันยืดเยื้อยาวนานจนสร้างสถิติใหม่ในที่สุดก็ได้บทสรุปสำหรับการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในการเคาะรอบที่ 199 โดยสองยักษ์ใหญ่ทั้ง เอไอเอส และ ดีแทค ยอมหมอบปล่อยให้ แจส โมบาย บรอดแบนด์ ในสังกัด จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล และ ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น ในสังกัดทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าวินไปตามระเบียบ


หลังจากใช้เวลากันยืดเยื้อยาวนานจนสร้างสถิติใหม่ในที่สุดก็ได้บทสรุปสำหรับการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในการเคาะรอบที่ 199 โดยสองยักษ์ใหญ่ทั้ง เอไอเอส และ ดีแทค ยอมหมอบปล่อยให้ แจส โมบาย บรอดแบนด์ ในสังกัด จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล และ ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น ในสังกัดทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าวินไปตามระเบียบ

เหตุผลของสองยักษ์ใหญ่นั้นน่าสนใจ โดยเฉพาะเอไอเอสที่ระบุว่า ราคาการประมูลขึ้นไปสูงเกินกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทกำหนดไว้ จึงตัดสินใจไม่ประมูลต่อ ตรงนี้ถือเป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะสองบริษัทที่ได้ไปเนื่องจากราคาประมูลที่สูงนั้น ยังมีเครื่องหมายคำถามจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ หรือสุดท้ายภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะต้องตกไปเป็นภาระของผู้บริโภค

สิ่งที่เป็นบทเรียนของการเคาะราคาประมูลที่สูงกว่าการประเมินไว้จำนวนมหาศาลนั้น คงเป็นกรณีของทีวีดิจิตอลที่บางรายต้องล้มหายตายจากไปเร็วกว่าที่คาดและไม่แน่ว่าจะมีรายอื่นตามมาในอีกไม่ช้าหรือไม่ ซึ่งคงจะไปโทษระบบการประมูลไม่ได้ แต่เป็นเพราะการคาดการณ์ธุรกิจที่ผิดพลาดของบริษัทเหล่านั้นนั่นเอง

คงต้องติดตามกันต่อไป หลังจากได้ใบอนุญาตกันไปแล้ว บริษัทที่ชนะประมูลทั้งคลื่นความถี่ระบบ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะสร้างมูลค่าจากที่ได้ลงทุนไปมหาศาลมากน้อยขนาดไหน ในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องดูว่าจะได้รับประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นจากการใช้บริการ ส่วนภาระค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องวัดใจบริษัทต่างๆ เหล่านั้นเอาเอง

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมกับหารือเต็มคณะระหว่างรัฐมนตรีสองประเทศ เป็นภาพที่อาจสร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไม่น้อย มิหนำซ้ำ ผู้นำเขมรยังหยอดคำหวานไปหลายดอก โดยเฉพาะจะมีการจัดเตะฟุตบอลกระชับมิตรเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 65 ปีของสองประเทศ เป็นภาพที่น่าจะสวยงาม

แต่ก็ทำให้นึกถึงตอนที่ฮุน เซน จัดเตะบอลในลักษณะนี้กับอดีตรัฐบาลของสมชาย วงศ์สวัสดิ์และแกนนำคนเสื้อแดง บรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ซึ่งถือเป็นความเหนือชั้นในการสานต่อความสัมพันธ์ของผู้นำกัมพูชา แม้ว่ารัฐบาลไทยชุดนี้จะไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม ผิดกับรัฐบาลที่ไปตั้งกันในค่ายทหารที่ถือว่าสถานะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศขณะนั้นย่ำแย่ที่สุด

คงเป็นเพราะท่าทีของผู้นำรัฐบาลในขณะนั้นที่เป็นเด็กนอกจึงไม่แยแสต่อการผูกมิตรไมตรีกับเพื่อนบ้าน ประกอบกับรัฐมนตรีต่างประเทศในเวลานั้นก็ดันไปประกาศบนเวทีอาหารดี ดนตรีไพเราะสาดเสียเทเสียว่าผู้นำเขมรเป็นกุ๊ย จึงกระทบความสัมพันธ์จนถึงขั้นมีปัญหาบริเวณชายแดนระหว่างกันและฝั่งกัมพูชาต้องไปยื่นฟ้องศาลโลก

นี่คือบทเรียนของผู้ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ในทางการทูตจะต้องระลึกไว้เสมอว่า การผูกมิตรไมตรีนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด มิเช่นนั้น พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคมช.ผู้ยึดอำนาจเมื่อปี 2549 คงไม่ส่ายหน้ากับนโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาลเทพประทานว่า ไม่เคยพบไม่เคยเห็นว่าจะมีรัฐบาลไหนที่ใช้นโยบายสร้างศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้านเหมือนอย่างรัฐบาลดังกล่าว

พูดถึงตรงนี้ก็นึกถึงกรณีการเข้าพบบิ๊กตู่ของ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่สื่อบางสำนักซึ่งชัดเจนว่าเชลียร์ผู้มีอำนาจถึงกับพาดหัว “ประยุทธ์สอนมวยรัสเซล” ทั้งๆ ที่หากมองอีกมุมจะพบว่าท่าทีดังกล่าวของผู้นำไทยนั้นไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายตระหนกตกใจ ในทางตรงข้ามกลับยืนยันและย้ำจุดเดิมคือ การคืนสู่ประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย

ทำไมถึงทำตัวเป็นแผ่นเสียงตกร่องเช่นนั้น การที่รัฐบาลคสช.พยายามหันหน้าไปพึ่งพาจีนด้วยหวังว่าจะมาคานการกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่กลับไม่ได้ผล แทนที่รัฐบาลวอชิงตันจะตามง้อหรือลดราวาศอกจากการกดดันไทย ทุกอย่างกลับเหมือนเดิมหรืออาจจะหนักข้อขึ้นเสียด้วยซ้ำ อันจะเห็นได้จากมาตรการรณรงค์ให้แอนตี้สินค้าประมงจากไทยล่าสุด

ความจริงแล้วท่วงทำนองของสหรัฐฯคงจับสัญญาณได้นับตั้งแต่การตั้ง กลินด์ ทาวเซนต์ เดวี่ส์ มาเป็นทูตในประเทศไทย ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวในเรื่องประชาธิปไตย ขณะเดียวกันการขยับของคนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่พอใจต่อการที่ทูตสหรัฐฯแสดงความเห็นเรื่องมาตรา 112 ก็กลายเป็นการเดินเข้าทางกับดักของพี่เบิ้ม ที่ต้องการเห็นท่าทีของรัฐบาลทหารต่อการปฏิบัติกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย

ประเด็นเรื่องสองมาตรฐานนั้นชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันท่วงทำนองของสหภาพยุโรปหรืออียูก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะสองวันก่อนมีข่าวอียูแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนและแรงงานทาส โดยยึดเอารายงานของสำนักข่าวเอพีที่พบว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงเยี่ยงทาสโดยให้ทำงานถึงวันละ 16 ชั่วโมง

แม้ว่าคณะกรรมาธิการด้านการประมงของอียูจะออกมายืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาในการติดตามการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายของรัฐบาลไทยก็ตาม แต่ข่าวด้านลบที่ออกมาย่อมจะเป็นผลต่อเนื่องและสร้างความกังวลไปยังผู้ส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูว่า จะมีมาตรการอื่นในการกีดกันตามมาหรือไม่

ร่ายยาวอย่างนี้เป็นเพราะอดเป็นห่วงไม่ได้ เหมือนอย่างที่ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บก.ข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น แสดงความเห็นห่วงว่า สิ่งที่พวกอเมริกันคิดคือทำอย่างไรรัฐบาลทหารจะหลบฉากไปเสียที โดยมีการยกตัวอย่างเรื่องมาตรการกดดันรัฐบาลทหารพม่าแล้วได้ผล จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะยอมแพ้ในประเทศไทย เวลาที่เหลืออยู่อีก 1 ปีของโอบามาจึงเหลือเฟือที่จะเล่นลูกล่อลูกชนกับรัฐบาลทหารไทย เรียกได้ว่าแนวรบด้านต่างประเทศอันเป็นศึกนอกยังเป็นปัญหาใหญ่กวนใจรัฐบาลคสช.อยู่เหมือนเดิม

Back to top button