6 โบรกเชียร์ซื้อ JPARK ชูเป้าสูงสุด 6.40 บาท การันตีรายได้มั่นคง

6 โบรกเกอร์แนะนำ “ซื้อ” หุ้นไอพีโอน้องใหม่ JPARK เคาะราคาเหมาะสมสูงสุด 6.40 บาท มองกำไรโต หลังเป็นธุรกิจที่มีรายได้สม่ำเสมอ และเป็นกิจการที่รับเงินสด


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลของนักวิเคราะห์์ที่ประเมินเกี่ยวกับหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK โดยมี 6 บริษัทหลักทรัพย์กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ระดับ 6.40 บาท

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ ให้ราคาเหมาะสมของ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK ที่ระดับ 6.40 บาท คาดกำไรสุทธิปี 67 จะเติบโต 60% เทียบจากปี 66 ที่คาดโต 16% เนื่องจาก JPARK เป็นบริษัทมีลักษณะธุรกิจที่มีรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ มีสัญญาเช่าระยะยาว และเป็นกิจการที่รับเงินสด โดยเฉพาะธุรกิจบริหารจัดการที่จอดรถจะมีรายได้เป็นประจำ ซึ่งคิดเป็น 20-25% ของรายได้

ขณะที่ธุรกิจบริการพื้นที่จอดรถก็เป็นกึ่งรายได้ประจำบวกกับรายได้ที่เป็นโครงการอย่างการรับติดตั้งระบบที่จอดรถ และโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ รพ. พระนั่งเกล้าที่มีสัญญาเช่า 30 ปี เพื่อให้บริการที่จอดรถและบางส่วนให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ด้วยจะยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตของกำไรสูงขึ้นในอนาคต

ด้าน บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเหมาะสมปี 67 ที่ 5.60 บาท และคาดหวังอัตราเงินปันผลที่ 1.8% ต่อปี คาดผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 66 และปี 67 เติบโตโดดเด่น โดยมีสาเหตุหลักจาก 1) ความหนาแน่นของประชากรในเขตเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการที่จอดรถมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

2) ได้แรงหนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังเติบโต 3) การขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ 4) ณ ปัจจุบัน มียอดแบ็กล็อกอยู่ราว 99.4 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้กว่า 90% ภายในปี 66-67 5) อยู่ระหว่างพัฒนา Application “Prompt Park” ซึ่งมีฟังก์ชั่นสำรองที่จอดรถ และ ชำระเงินแบบไร้เงินสด

6) บริษัทมีแผนนำเงิน IPO ไปลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถ และบริหารที่จอดรถ โดยประมาณการรายได้ปี 66-67 ราว 540.1 ล้านบาท และ 692.4 ล้านบาท เติบโต 19.6% จากปีก่อน และโต 28.0% จากปีก่อน พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 65-66 ที่ระดับ 66.2 ล้านบาท และ 94.5 ล้านบาท เติบโต 20.3% จากปีก่อน และโต 42.6% จากปีก่อน ตามลำดับ

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาพื้นฐานปี 67 ที่ 5.40 บาท เนื่องจากในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีบริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจแบบเดียวกับ JPARK ทางฝ่ายจึงเทียบเคียงกับบริษัท Nippon Parking Development และ Park24 ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในญี่ปุ่น ซื้อขาย P/E เฉลี่ยที่ 17.4 เท่า ซึ่งธุรกิจน่าจะ mature แล้ว

ขณะที่ JPARK ยังมีโอกาสเติบโตจากการได้สัญญางานใหม่ ๆ เพิ่ม รวมถึงเงินทุนจาก IPO ที่จะนำไปขยายธุรกิจได้มากขึ้น จึงให้พรีเมี่ยมจากคาดการณ์กำไรสุทธิที่เติบโตระดับสูง อิง P/E ที่ 20 เท่า

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์ เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 5.20 บาท คาดกำไรปี 66-68 เติบโตเฉลี่ยสูง 27.8% ต่อปี หนุนจากรายได้รวมปี 66-68 คาดเติบโต 13.6%/34.7%/12.4% ตามลำดับ จากช่องจอดที่คาดเพิ่มเป็น 1.44/1.65/1.74 หมื่นช่องจอด ตามลำดับ จากการขยายพื้นที่ให้บริการต่อเนื่อง รวมถึง U-rate พื้นที่จอดรถที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับ Gross profit margin ที่คาดปรับเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ ที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น หนุนปี 66-68 เพิ่มเป็น 24.4%/24.5%/25.1% ตามลำดับ

ขณะที่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 5.00 บาท เนื่องจากมองว่า JPARK มีความน่าสนใจจากการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจบริหารที่จอดรถในไทย และมีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี และบริการในทำเลพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งธุรกิจมีรายได้ประจำสม่ำเสมอ และมีความสามารถในการทำกำไร ผนวกกับฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต

พร้อมกันนี้ คาดกำไรสุทธิปี 66-68 เติบโตเฉลี่ย 24% ต่อปี มาอยู่ที่ 64 ล้านบาท (โต 16% จากปีก่อน), 92 ล้านบาท (โต 44% จากปี 66) และ 106 ล้านบาท (โต 15% จากปี 67) ตามลำดับ หนุนหลักจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19% ต่อปี จากธุรกิจให้บริการที่จอดมีการขยายที่จอดเพิ่มขึ้น 17% ต่อปี และที่ธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบที่จอดเห็นการเติบโตที่ดีเฉลี่ย 14% ต่อปี สอดคล้องกับพื้นที่จอดแล้วจรในบริเวณย่านรถไฟฟ้าที่ยังขาดแคลน ขณะที่ %GPM ในปี 67-68 คาดเห็นการฟื้นตัวจากราคาค่าจอดในพื้นที่ใหม่มีอัตราที่สูงกว่า รวมถึงธุรกิจรับจ้างบริหารจะมีการต่อสัญญา และได้อัตราการจ้างที่สูงมากขึ้น

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมายของ JPARK อยู่ที่ 4.90 บาท จากการคาดการณ์รายได้เติบโตจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้บริการที่จอดรถ การสนับสนุนการใช้รถสาธารณะจากภาครัฐที่ทำให้มีการสร้างอาคารจอดรถเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปบริหารจัดการ

ทั้งนี้ เมื่อบวกกับอัตรากำไรขั้นต้นที่มีการขยายตัว และค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ลดลงจากการประหยัดจากขนาด ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิจะมีการเติบโตที่ 27.1% ต่อปีในปี 65-68

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าสิ้นปี 66 บริษัทจะสามารถเพิ่มจำนวนช่องจอดรถยนต์ได้อยู่ที่ราว 15,000 ช่อง และ ณ สิ้นปี 67 จะมีช่องจอดรถยนต์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 20,000 ช่อง ส่งผลให้คาดว่ารายได้จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถจะเติบโตราว 22.6% ต่อปี ในปี 65-68 ขณะที่การเติบโตของรายได้ธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถจะอยู่ที่ 8.7% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาคารพื้นที่จอดแล้วจรตามมาตรการสนับสนุนการใช้รถสาธารณะของภาครัฐ และธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบที่คาดว่าจะมีการเติบโต 14.8% เฉลี่ยต่อปี จากความต้องการปรับปรุงพื้นที่จอดรถหลายแห่งให้มีความทันสมัยและสะดวกมากขึ้น รวมถึงการติดตั้ง EV Charger เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนการใช้งานสูงขึ้น

Back to top button