บาทอ่อน ทุนไหลออกพลวัต 2015

ในความพยายามของนักวิเคราะห์เพื่อค้นหาหุ้นที่นักลงทุนควรซื้อในยามที่ตลาดผันผวนหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยนั้น มีสิ่งที่น่าผิดหวังเกิดขึ้น เพราะความพยายามดังกล่าว ให้ความสำคัญกับคำอธิบายในเชิงเทคนิคอย่างมาก หรือปัจจัยพื้นฐานของหุ้นในมุมมองของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้นธนาคารที่จะได้ปล่อยสินเชื่อก้อนโตให้บริษัทที่ชนะ ประมูลคลื่น 4G หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน


ในความพยายามของนักวิเคราะห์เพื่อค้นหาหุ้นที่นักลงทุนควรซื้อในยามที่ตลาดผันผวนหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยนั้น มีสิ่งที่น่าผิดหวังเกิดขึ้น เพราะความพยายามดังกล่าว ให้ความสำคัญกับคำอธิบายในเชิงเทคนิคอย่างมาก หรือปัจจัยพื้นฐานของหุ้นในมุมมองของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้นธนาคารที่จะได้ปล่อยสินเชื่อก้อนโตให้บริษัทที่ชนะ ประมูลคลื่น 4G หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมัน

มีนักวิเคราะห์น้อยรายมากที่พูดถึงการอ่อนค่าของเงินบาทและกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกที่จะต้องเกิดขึ้น

2 วันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ที่แล้วมา ค่าเงินบาทอ่อนยวบทะลุยืนเหนือ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าไปเรื่อย เชื่อมโยงเข้ากับการถอนตัวจากตลาดหุ้นไทยรุนแรงขึ้นของทุนเก็งกำไรต่างชาติ ที่ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมากกว่า 5 พันล้านบาท และหากคิดเดือนธันวาคม ขายสุทธิไปแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท รวมแล้วตลอดทั้งปีจนถึงวันศุกร์ ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.38 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2556 ขายสุทธิไป 2.0 แสนล้านบาท ปีที่แล้วขายสุทธิ 7 หมื่นล้านบาท

รวมแล้ว 3 ปี ต่างชาติถอนตัวจากตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 4 แสนล้านบาทเศษ

การถอนตัวของทุนเก็งกำไรต่างชาตินี้ ใครจะพยายามบอกหรือแก้ต่างว่า ต่างชาติไม่ได้มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก ก็คงจะหาคนเชื่อยาก เพราะไม่เช่นนั้นผู้บริหารตลาดหรือโบรก์เกอร์สำนักต่างๆ คงไม่ดิ้นรนพาบริษัทจดทะเบียนไปโรดโชว์ในต่างประเทศให้เสียเวลา

หากนักลงทุนย้อนกลับไปอ่านบทวิเคราะห์ของสำนักต่างๆ เทียบกัน จะเห็นได้เลยว่า พวกเขามองในเชิงบวกมากกว่าลบ พวกที่ระวังระไวหน่อยก็จะออกคำเตือนเบาๆ ว่า แรงกดดันในการประมูล 4G ที่ทำสถิติราคาใบอนุญาตโลกเข้าไปแล้วนั้น จะทำให้ตลาดผันผวนบ้าง แต่มีกรอบไม่กว้างนัก เพราะตลาดหุ้นยังมีโอกาสเป็นขาขึ้นไปหาแนวต้านที่ดัชนีระดับประมาณ 1,340 จุด หลังจากที่เกิดภาวะ breaking out ผ่านจุดต่ำสุดไม่กี่วันก่อน ที่ระดับ 1,265 จุดไม่นาน

บางคนไปไกลกว่านั้น ถือโอกาสประกาศข่าวชวนหัวว่าข่าวร้ายได้รับการซึมซับหมดแล้ว

ดัชนีที่ร่วงลงมาหมดสภาพวันศุกร์ที่ผ่านมา สอดรับกับค่าบาทที่ทะยานไปเหนือ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ชัดเจนในด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงหาจุดต่ำสุดใหม่ (ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าไม่มาก เพราะจะถูกหักล้างจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารที่โยงท่องเที่ยวและสื่อสาร)

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ ระเบิดเวลาลูกเก่าอย่างค่าดอลลาร์แข็งจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ กำลังจะกลับมาหลอกหลอนตลาดหุ้นอีกครั้งตามปกติเหมือนเช่นครั้งก่อนๆเนื่องจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออก

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่หลุดแนวรับ 1,300 จุดลงมาหมดสภาพทั้งที่ขึ้นมาแค่2 วันเป็นผลพวงดังกล่าว

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีความชัดเจนแล้วเป็นสัญญาณว่าคนจะหันกลับไปถือดอลลาร์มากขึ้น ในกรณีของตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดเล็กนั้น ไม่มีชาติไหนตามรอยจีนที่กล้าหาญตัดสินใจลดค่าเงินหยวนลงไปเพื่อแก้ปัญหาการส่งออกของประเทศ เพราะนักลงทุนในชาติเล็กๆ ของตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย รู้ดีว่าค่าดอลลาร์แข็งไม่เคยเป็นผลดีกับดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่มาแต่ไหนแต่ไร จากการที่ต่างชาติจะถอนตัวจากตลาดหุ้นไทยรุนแรงซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของทุนต่างชาติ

มุมมองของผู้จัดการกองทุนเก็บกำไรข้ามชาติในตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐส่วนใหญ่ถือว่าที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของเฟด (เฟดฟันด์เรต) ที่เป็นตัวชี้นำค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริงซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้นแต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้ามีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายที่ไม่ได้พูดออกมาแต่เข้าใจกันดีในตลาดเงินและตลาดทุนคือมุ่งรักษาฐานะของค่าดอลลาร์สหรัฐซึ่งนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาถือว่าเป็นเงินสกุลสากลที่ใช้สำหรับค้ำจุนระบบการเงินโลกที่โดดเด่นที่สุดยิ่งกว่าเงินสกุลใดๆในอดีตให้ยืนนานต่อไป

พวกเขาเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยปิดยุคดอลลาร์ถูกจะทำให้ชาติที่เคยชินกับโอกาสในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์มาเผชิญกับ ”ภาระ” แทนเพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไปแล้วจากนั้นชาติเหล่านั้นจะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์มาเป็นการเก็งกำไรแทนทำให้สหรัฐสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

การที่ยุโรปและญี่ปุ่น ยังคงต้องพิมพ์เงินออกมามหาศาลแต่ละเดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นภาวะเงินผืดในจำนวนต่อเดือนมากกว่าที่เฟดเคยกระทำมา 6 ปีรวมถึงการพังทลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะน้ำมันและทองคำ) ทำให้การถือดอลลาร์มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐเอง

ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่งเพียงนั้นประวัติยุคปลายของบิลคลินตันบันทึกไว้ชัดเจน ซึ่งเส้นทาง เช่นกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติรู้กันดีและต้องทิ้งการถือหลักทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลอื่นๆ นอกจากมาถือในรูปดอลลาร์ที่กำลังขาขึ้นรอบใหม่ด้วยรายละเอียดที่ต่างจากเดิมในอดีต

ในด้านหนึ่ง อาจมีคนอ้างแบบเถรตรงว่าค่าดอลลาร์ที่สูงเป็นประโยชน์กับการส่งออกสินค้าของไทยและชาติคู่ค้าสหรัฐ แต่ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาและเผชิญความเสี่ยงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ช่วงขาลง จะไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกมากมายนักเพราะอุปสงค์ของสินค้าอยู่ในระดับต่ำ

ในเชิงเปรียบเทียบ ผลลัพธ์ทางลบที่มีต่อตลาดทุนและตลาดเงินของตลาดเกิดใหม่จากการแข็งค่าของดอลลาร์ชัดเจนยิ่ง เพราะว่าทุนที่ไหลออกไปถือดอลลาร์มากขึ้นจะทำให้เกิดผลลบต่อดัชนีตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ที่ผกผันรุนแรง 

ปรากฏการณ์ทุนไหลออกนี้ อาจจะมีคนมองว่าเกิดจากภาวะใกล้สิ้นปี หรือมองอีกว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

คำถามตามมาคือ ตัวเลขขายสุทธิต่างชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและกดดันให้ดัชนีปรับตัวถดถอยลง ในลักษณะไซด์เวย์ดาวน์นั้นจะยาวนานแค่ไหน และจะสามารถทำให้กองทุนเข้าซื้อทดแทนเพื่อประคองตลาดได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะกองทุนพวกนั้นก็ไม่ใช่กองทุนเพื่อการกุศลแต่อย่างใด

ในช่วงที่ผ่านมาหลายเดือน รัฐบาลไทยหลังปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้พยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกออกมาในสองเดือนนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวจากความซบเซาแต่นั่นไม่เกี่ยวข้องกับการหยุดยั้งกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกแต่อย่างใด

ข้อเท็จจริงเรื่องฟันด์โฟลว์ไหลออกนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ต้องทำการบ้านยาวนานพอสมควร ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ใหม่อย่างไร เพราะข่าวร้ายนั้นยังไม่จางหายไปไหนมากนัก เพียงแต่อาจจะมีข่าวดีมาแทรกให้หายกลุ้มมากเกินไปบางช่วงเวลาเท่านั้นเอง

ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจะยังตามหลอกหลอนตลาดหุ้นไทยอีกนานพอสมควรอย่าประมาทไป

Back to top button