พาราสาวะถี
ครบรอบ 17 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ถูกมองว่า “เสียของ” การเดินทางกลับมาประเทศไทยและพักรักษาตัวด้วยเหตุผลป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร
ครบรอบ 17 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ถูกมองว่า “เสียของ” การเดินทางกลับมาประเทศไทยและพักรักษาตัวด้วยเหตุผลป่วยของ ทักษิณ ชินวัตร ที่โรงพยาบาลตำรวจแทนการนอนคุก คงจะเป็นบทพิสูจน์ว่า การยึดอำนาจครั้งนั้นเป็นอย่างที่ว่าจริงหรือไม่ ทั้งที่ความจริงมีการยึดอำนาจซ้ำในระยะเวลาห่างกันแค่ไม่ถึง 8 ปี และมีการวางกลไกการสืบทอดอำนาจจนอยู่ยาวกันมากว่า 9 ปี สุดท้ายการเมืองไทยก็กลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ มีการตั้งรัฐบาล 11 พรรคร่วมที่ยังไม่รู้บทสรุปจะหมู่หรือจ่า
เท่าที่เห็นและเป็นไปผ่านการประชุม ครม. 2 นัด ทุกพรรคยังคงประสานมือ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่ เศรษฐา ทวีสิน ผู้นำรัฐนาวาประกาศต้องไม่มีคำว่าทำไม่ได้เมื่อถูกประชาชนถาม และทุกอย่างจะต้องเห็นผลผ่านการทำงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ล่าสุด พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงานจากพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่วางมือทางการเมืองไปแล้ว เดินหน้าตามนโยบายลดราคาค่าไฟฟ้าและน้ำมันเต็มที่
จากสัปดาห์ก่อนลดค่าไฟเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย ยังไม่เพียงพอ ครม.วันจันทร์ที่ผ่านมาไฟเขียวให้มีการลดเพิ่มอีกเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย มีผลทันทีในรอบบิลเดือนกันยายนนี้ ใครที่ว่าอดีตผู้พิพากษาและนักกฎหมายอย่างพีระพันธุ์จะไม่กล้าเดินหน้ากับแนวทางประชานิยมแบบเพื่อไทย คิดผิดกันหมด เรียกได้ผลงานจากการประชุม ครม.สองนัดผ่านไป ผลงานเข้าตาเต็ม ๆ สร้างความพออกพอใจกับทั้งประชาชนและภาคผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง
การขยับกันแบบนี้ถ้าทำได้สม่ำเสมอ จะเป็นเหมือนจิตวิทยาในการที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลับมาคึกคัก หลังจากที่ซบเซากันมาภายใต้การกุมบังเหียนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและเครือข่ายในขบวนการ เหลือเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ภายใต้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของเพื่อไทยที่รอลุ้นกันอยู่ว่าจะเดินหน้าได้เมื่อไหร่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังบอกแล้วว่า จะตั้งกรรมการขึ้นมา 2 ชุดดูเรื่องเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลประชาชน 1 หมื่นบาทและการพักหนี้เกษตรกร
คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะมีคำตอบทั้งเรื่อง วงเงินและแหล่งที่มาของการใช้งบประมาณ รวมไปถึงรัศมีของการใช้เงินดิจิทัลจากเดิมที่วางกรอบไว้ 4 กิโลเมตรจากที่พักอาศัยตามบัตรประชาชน มีกรอบเวลาในการทำงานไม่เกิน 10 วัน ตรงนี้เป็นประกาศิตมาจากเศรษฐา ที่ต้องมีผลสรุปของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายใต้ระยะเวลาที่ได้รับปากกันไว้ บรรยากาศการทำงานทุกภาคส่วนต้องกระชับ ฉับไว ในเมื่อรัฐบาลนี้ไม่มีเวลาฮันนีมูน
ไม่เพียงเท่านั้น เศรษฐา ยังย้ำด้วยว่า เรื่องค่าไฟฟ้าตั้งเป้าหมายที่ลดไปถึง 3 บาทต่อหน่วยด้วย แบบนี้ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เบื้องต้นจะทำให้ได้ 400 บาทต่อวันก่อนปีใหม่ ตรงนี้ถือเป็นข้อแลกเปลี่ยนเมื่อรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการแล้ว ก็ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน ซึ่งคงไม่ได้มีแค่ค่าไฟเพียงอย่างเดียว จะมีมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ตามมา
ส่วนทางการเมืองที่ท่านผู้นำถูกค่อนขอดว่าเป็น “นายกฯ ส้มหล่น” เศรษฐาโนสนโนแคร์ บอกแค่สั้น ๆ ขอให้รอดูผลงาน เช่นเดียวกับจุดยืนเรื่องการรัฐประหารที่เจ้าตัวย้ำคำเดิมว่าไม่เห็นด้วย เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็จะเร่งทำเป็นการด่วน ประสาคนที่ทำการบ้านมาดี แต่แค่นี้ยังไม่เพียงพอ ฝ่ายการเมืองที่หมายถึงเพื่อไทยในฐานะกองหนุนก็ต้องทำงานให้ประสานสอดคล้องกันด้วย จะมาเงื้อง่าโชว์ลีลาอ้างสารพัดเหตุผลที่จะทำให้กระบวนการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าไม่ได้
ไม่ผิดกับการตั้งคำถามจากฝ่ายค้านเกี่ยวกับความชัดเจนต่อระยะเวลาที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการทำประชามติและเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาเป็นผู้ยกร่าง เพียงแต่ว่ารายทางต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจน อย่างที่ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ให้สัมภาษณ์วันวาน ตรงนี้พอเข้าใจได้ มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ในครั้งแรกไปแล้ว และสั่งการไปเรียบร้อย ได้แปลงความต้องการของประชาชนมาเป็นรูปธรรมในการสั่งการแต่ละฝ่าย ส่วนการดำเนินการหลายเรื่องก็ต้องใช้เวลา
ต้องยอมรับว่าโดยปกติหมอมิ้งจะเป็นคนที่สงบปากสงบคำมากที่สุดแล้ว แต่ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลเพื่อไทยในฐานะกำลังเผชิญและหัวโขนนายกฯ น้อย จึงจำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้คนได้เข้าใจแม้จะไม่ทั้งหมด แต่ในระดับหนึ่งก็ยังดี กรณีนี้แก้รัฐธรรมนูญกับข้อทักท้วงจากฝ่ายค้าน มีมุมที่ต้องฟังรัฐบาลบ้างฝ่ายค้านก็ค้านไป รัฐบาลก็ชัดได้ขนาดนี้แล้ว เพียงแต่ต้องเข้าใจว่าหลายเรื่องต้องใช้เวลา “จะรีดให้ได้เลยหรือ รัฐบาลยังทำงานไม่ครบอาทิตย์เลย”
แง่ของการติ๊ดชึ่งเชื่อได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบรรดามือการเมืองผู้ได้ชื่อว่าขงเบ้งจอมวางแผนของเพื่อไทย เพียงแต่ว่าการอธิบายใด ๆ มันจะต้องควบคู่ไปกับผลงานของรัฐบาลที่จะต้องทยอยแสดงให้ประชาชนได้สัมผัสเหมือนกรณีการลดค่าไฟ และยังมีแนวโน้มที่จะได้เห็นการลดราคาน้ำมันเบนซินที่หลุดมาจากปากของพีระพันธุ์ด้วยว่าไม่ใช่เรื่องยากหากจะทำด้วย ตรงนี้คงลดแรงเสียดทานจากประชาชนได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่น่าห่วงคงเป็นเรื่องสายสัมพันธ์ของคนในรัฐบาลมากกว่า
รอยปริแยกเริ่มมีให้เห็นแล้วที่กระทรวงเกษตรฯ เหตุที่มีรัฐมนตรี 3 คนจาก 3 พรรค ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้ากระทรวงจากพรรคสืบทอดอำนาจเซ็นแบ่งงานสองรัฐมนตรีช่วย ไชยา พรหมา สังกัดเพื่อไทย และ อนุชา นาคาศัย จากรวมไทยสร้างชาติ ได้ดูแลคนละ 4 หน่วยงาน ด้านรัฐมนตรีว่าการคุมเอง 11 หน่วยงาน เช่นนี้ในฐานะพรรคแกนนำคงจะขยับงานตามนโยบายได้ยาก จึงมีการส่งสัญญาณ “ขอเคลียร์” ซึ่งผู้กองมันคือแป้งก็ยินดีที่จะคุย แต่ไม่รู้ว่าจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่
การดักคอด้วยข้อความที่ว่าทำงานต้องให้เกียรติกัน ต้องไว้ใจกัน ต้องมีธรรมาภิบาล หากเกิดอย่างนี้ทุกกระทรวงห่วงว่าเศรษฐาต้องกุมขมับแทนที่จะทำให้ทุกอย่างเดินได้เร็วตามที่ต้องการ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมการแบ่งงานรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงต่าง ๆ เพื่อไทยจึงไม่ปล่อยให้คนของพรรคสืบทอดอำนาจมาดูแลกันเอง นักการเมืองเป็นพวกประเภทไก่เห็นตีนงูกันอยู่แล้ว ยิ่งยุคนี้ต้องท่องให้ขึ้นใจขัดแย้งกันภายในไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่จะนำไปสู่หายนะเท่านั้น