พาราสาวะถี
พาคณะบินลัดฟ้าไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สำหรับ เศรษฐา ทวีสิน
พาคณะบินลัดฟ้าไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สำหรับ เศรษฐา ทวีสิน ถ้าจำกันได้เวทีดังว่านี่แหละที่ ทักษิณ ชินวัตร บินไปเข้าร่วมเมื่อปี 2549 แล้วถูกคณะเผด็จการ คมช.ยึดอำนาจ แต่หนนี้สถานการณ์ต่างออกไป นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ออกไปปฏิบัติภารกิจนอกประเทศครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่ง ที่ถูกจับตามองก่อนเดินทางเป็นเรื่องการเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทยพาคณะไปในราคา 30 ล้านบาท
คนที่ขยันขันแข็งตรวจเช็กรายละเอียดยิบกับการเดินทางหนนี้ของนายกฯ เศรษฐาก็คือ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่ตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายครั้งนี้สูงเกินไปหรือไม่ และจะคุ้มค่ากับภาษีของประชาชนที่จ่ายไปหรือเปล่า ล่าสุด เป็นการหยิบเอาคำพูดของเศรษฐาที่ตอบคำถามนักข่าวยืนยัน ไม่มีเอกชนหรือนักธุรกิจร่วมในคณะ แต่ปรากฏรายชื่อคนที่ร่วมเดินทางมีชื่อ คณาพจน์ โจมฤทธิ์ และ ชนัญดา ทวีสิน ลูกสาวนายกฯ ด้วย ทำให้เจ้าตัวตั้งคำถามว่า ทั้งสองคนนี้มีรายชื่อเป็นคณะทำงานฝ่ายใดของนายกฯ หรือไม่
จะว่าไปแล้วคงต้องรอให้เศรษฐากลับมาหรือจะเป็น ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาลซึ่งกำลังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสมชัยอยู่พอดีอธิบายแทน กรณีของลูกสาวนายกฯ นั้นเข้าใจได้ว่าน่าจะมีคำอธิบายในแง่ของการร่วมคณะโดยใช้เงินส่วนตัวในการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือจะเป็นทีมที่ปรึกษาหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่รายของคณาพจน์สันนิษฐานว่า จะเป็นคณะทำงานของท่านผู้นำในฐานะผู้อำนวยการทีมคิดเพื่อไทย ที่สำคัญคือเป็นเพื่อนสนิทของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยมาตั้งแต่สมัยเรียน
อย่างไรก็ตาม นักข่าวรายงานว่าเศรษฐาและคณะนั่งในชั้น Business Class ไม่ได้นั่งในชั้น First Class อย่างที่ถูกกล่าวหา โดยมีการยืนยันด้วยว่าการตัดสินใจเช่าเหมาลำของการบินไทยราคาถูกกว่าส่วนราชการ เนื่องจากมีการเปรียบเทียบราคาอย่างโปร่งใส ที่สำคัญท่านผู้นำย้ำว่า นั่งรวมกับทุกคนในชั้น Business Class ไม่จำเป็นต้องนั่งแยกกัน เอาที่ต้นทุนมีประสิทธิภาพที่สุด อะไรที่ช่วยกันได้ก็ช่วยกัน สบาย ๆ เป็นการส่งสัญญาณว่า การถูกโจมตีเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่
ประเด็นเช่นนี้ทางการเมืองถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว แต่สำหรับคนที่จับผิดก็จะบอกว่าทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ว่ากันไปตามที่ตัวเองเข้าใจและคิดว่าถูกต้อง มองไปยังภารกิจของเศรษฐาบนเวทีดังกล่าว วาระอย่างเป็นทางการคือ การกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปในการประชุมฯ การกล่าว Welcoming Remarks ในกิจกรรมคู่ขนานระดับสูง ของประเทศไทยและอาเซียน ในหัวข้อ “Fostering Partnership for Our Common Future: Enhancing Multi-Stakeholder Partnerships to Accelerate the SDGs in ASEAN”
สิ่งสำคัญจากการเดินทางเข้าร่วมประชุมที่เป็นงานใหญ่ระดับนี้คือ จะได้หารือกับผู้นำต่างประเทศ ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ บุคคลสำคัญ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านกรอบทวิภาคี และพหุภาคี ขณะเดียวกันก็จะได้มีการหารือกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน หอการค้าสหรัฐฯ และภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งมีบริษัทเอกชนมาร่วมจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ยืนยันแนวทางด้านนโยบายของไทยที่สนับสนุนการค้าการลงทุนกับต่างประเทศด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจับจ้องด้วยว่า ผู้นำจากไทยจะมีโอกาสได้หารือกับผู้นำเยอรมนีเพื่อที่จะขอความเห็นใจในการอนุมัติขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้กับทางจีน ซึ่งกองทัพเรือไทยได้ไปทำสัญญาซื้อไว้หรือเปล่า โดยที่เศรษฐาบอกกับนักข่าวเองว่า ไม่รู้จะได้พบปะกันหรือไม่ แต่ได้มีการเจรจา มีการขอนัดพบกันอยู่ เรื่องนี้เข้าใจว่าน่าจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพราะกรณีเรือดำน้ำถือเป็นเผือกร้อนจากรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ตกมาอยู่ในมือรัฐบาลปัจจุบัน จะยกเลิกสัญญาหรือเดินหน้าต่อโดยยอมใช้เครื่องยนต์จากจีน ถือเป็นโจทย์หินอย่างยิ่ง
ส่วนบรรยากาศในประเทศไทยคึกคักไม่น้อยสำหรับพรรคเพื่อไทย ที่วันวาน (19 กันยายน) อุ๊งอิ๊งได้นำทีมคณะผู้บริหาร สส. สมาชิกและเจ้าหน้าที่พรรคทำบุญก้าวสู่ปีที่ 16 ของพรรค ถือเป็นการใช้วันที่อดีตผู้นำพรรคตั้งต้นของเพื่อไทยอย่างไทยรักไทยคือทักษิณถูกยึดอำนาจ มาต่อยอดทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในฐานะพรรคที่ต่อสู้กับฝ่ายเผด็จการ เพราะหลังจากที่อดีตนายกฯ คนที่ 25 ถูกยึดอำนาจก็ตามมาด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน ที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมองว่า เป็นความน่าอัปยศอดสูสำหรับการเมืองบ้านเรา
ไม่ว่าจะอย่างไร ไฮไลต์ไม่ได้อยู่ที่การทำบุญครบรอบวันก่อตั้งพรรค หากแต่เป็นการถามแพทองธารถึงความเป็นไปได้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ นอกจากจะไม่ปฏิเสธแล้วยังยินดีที่จะรับหากที่ประชุมพรรคมีมติเลือกเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่มีอะไรพลิกผันไปจากนี้ ถือเป็นการกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัวสำหรับลูกสาวคนเล็กของตระกูลชินวัตร แน่นอนว่าการได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่มีนายกฯ เป็นประธาน คือเวทีสำหรับแสดงศักยภาพในการเป็นนักคิด นักบริหารคนรุ่นใหม่
ฟัง ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรองหัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์ ทำให้มองเห็นแนวโน้มทิศทางของพรรคว่าจะเป็นอย่างไร หนีไม่พ้นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพเข้ามามีบทบาทในการทำงานการเมืองมากขึ้น เป้าหมายสำคัญคือเพื่อต่อสู้ทางการเมืองกับคู่แข่งสำคัญอย่างก้าวไกล ซึ่งบรรดานักการเมืองอาวุโสทั้งหลายก็จะกลายเป็นผู้สนับสนุน อยู่เบื้องหลัง คอยเดินเกมในแง่ของการเจรจาต่อรองทางการเมือง อันถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยากจะสอนกันได้ เห็นกันแล้วจากความล้มเหลวในการตั้งรัฐบาลและผลักดันให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ของพรรคก้าวไกล
ภายในเพื่อไทยเองก็มีนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ทั้งที่เปิดเผยตัวและไม่แสดงตน ได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาช่วยวางแนวทางทางการเมืองในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ภายใต้การดูแลของแพทองธารนั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้การพลิกขั้วตั้งรัฐบาลรอบนี้ จากที่ใครต่อใครมองว่าเพื่อไทยจะเสียแนวร่วมไปมหาศาล อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่แค่จะใช้ผลงานเป็นการดึงคะแนนนิยม แต่การเปลี่ยนโฉมของคณะผู้บริหารพรรคและการขับเคลื่อนทางการเมืองหลังจากนี้จะเป็นการทำคู่ขนานเพื่อสร้างกระแสคู่กัน