กับดัก ‘ค่าไฟ (ถูก)’
ครม. นัดล่าสุด (18 ก.ย.66) สร้างเซอร์ไพรส์เชิงบวกต่อคนใช้ไฟไม่น้อยทีเดียว เมื่อ ครม.มีมติลดค่าไฟฟ้า(งวด ก.ย.-ธ.ค.66) ลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย
ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)..นัดล่าสุด (18 ก.ย. 66) สร้างเซอร์ไพรส์เชิงบวกต่อคนใช้ไฟไม่น้อยทีเดียว เมื่อครม.มีมติลดค่าไฟฟ้า (งวด ก.ย.-ธ.ค. 66) ลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย (สัปดาห์ก่อนครม.รับทราบที่ 4.10 บาท) จากเดิมมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเรียกเก็บค่าไฟงวดดังกล่าว 4.45 บาทต่อหน่วย
เรื่องนี้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รายงานว่า สามารถเจรจาให้ค่าไฟลงได้จากสัปดาห์ก่อนอีก 0.11 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่งวด ก.ย.-ธ.ค. 66 อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย จากการรายงาน ครม.สัปดาห์ก่อน 4.10 บาทต่อหน่วยเพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้หาทางทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย
ส่วนที่ว่าจะใช้วิธีการแบบไหน..นายพีระพันธุ์ ไม่ได้รายงานให้ครม.ทราบแต่อย่างใด..!!?
อย่างไรก็ดีล่าสุดกกพ.ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ครม.มีมติเห็นชอบ ให้ปรับลดค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนงวด ก.ย.-ธ.ค. 66 ลงมาที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ที่ถือเป็นการปรับลดลง 0.46 บาทต่อหน่วย จากมติของกกพ.ที่ปัจจุบันเรียกเก็บ 4.45 บาทต่อหน่วย ว่ากันว่าวันนี้ (20 ก.ย. 66) กกพ.จะมีการพิจารณารายละเอียดเรื่องนี้ต่อไป
จุดที่น่าสนใจการมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระยืดหนี้ออกไปก่อน 120,000 ล้านบาท เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย กกพ.ได้พิจารณาว่ากฟผ.ต้องแบกรับภาระมากเกินอยู่แล้ว
แต่หากว่าต้องการให้ลดเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย จะต้องหารือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เรื่องการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่ปตท.จัดหามาได้จากแหล่งอ่าวไทยว่าจะมีแนวทางบริหารด้านราคาหรือการจัดสรรให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไร..!?
เรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในวาระหลัก..ที่กกพ.จะต้องมีการหยิบยกมาพิจารณา เพื่อปรับลดค่าไฟให้อยู่ที่ระดับ 3.99 บาท ตามมติครม.ดังกล่าว
การปรับลดค่าไฟดังกล่าวถือเป็นเซอร์ไพรส์เชิงลบต่อผู้ประกอบการไฟฟ้าประเภท SPP ที่ขายไฟกับภาคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ดูจะได้รับผลกระทบมากสุดตามสัดส่วนการขายไฟลูกค้าอุตสาหกรรม 36-38% รองลงมาคือบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีสัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรม 26-28%
ส่วนบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF สัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมต่ำสุดเพียงแค่ 9% เพราะส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าประเภท IPP ที่มีสัญญาซื้อขายโดยตรงกับกฟผ. จึงถือว่ากระทบในวงจำกัด
แต่ปัญหามันยังไม่จบแค่นั้น..เพราะเมื่อพ้นงวดค่าไฟ ก.ย.-ธ.ค. 66 รัฐบาลจะปรับขึ้นได้หรือไม่ อย่าลืมนะว่าภายใต้ราคาก๊าซปัจจุบันตามสูตรกกพ.ราคาค่าไฟงวดนี้จะอยู่ 4.45 บาท แต่ด้วยแรงกดดันทางสังคมและสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ รัฐบาลกดค่าไฟมากถึง 0.46 บาท
นั่นหมายถึงหากคิดต้นทุนราคาก๊าซปัจจุบัน ค่าไฟงวดใหม่ ม.ค.-เม.ย. 67 สมควรจะอยู่ประมาณ 4.45 บาท เท่ากับว่าถ้าไม่มีกลไกพิเศษใด ๆ เข้ามาค่าไฟจะถีบตัวขึ้นมาทันที 0.46 บาท
แต่เชื่อหัวไอ้เรืองได้เลยว่ารัฐบาลคงต้องอุ้มกระเตงกันต่อไป..
แหละนั่นคือ “กับดักค่าไฟ” ที่จะ “บั่นทอนกำไร” ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP ไม่จบไม่สิ้น..!?
อย่าลืมนะว่า “สินค้าที่ติดป้าย Sale” แล้ว..จะกลับมาขายราคาเดิมคงไม่ได้แล้ว..!!