เสียงครวญจากรายย่อยถึงกรมสรรพากร
เกิดกระแสร้อนแรงขึ้นในแวดวงการลงทุน เมื่อกรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งกับเจ้าหน้าที่ในเรื่อง “การจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ”
เส้นทางนักลงทุน
เกิดกระแสร้อนแรงขึ้นในแวดวงการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย เมื่อกรมสรรพากรได้มีหนังสือแจ้งกับเจ้าหน้าที่ในเรื่อง “การจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ” ซึ่งจะมีผลในปีภาษีเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศ เริ่ม 1 ม.ค. 2567 เพราะเรื่องนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง
ในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 ได้พูดถึงเรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ เนื่องจากหน้าที่การงาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยเมื่อนำเงินได้พึงประเมินกลับเข้ามาในประเทศ
กรมสรรพากรให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรมให้มากขึ้นระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ต้องพิสูจน์การมีเงินได้ และช่วงเวลาในการนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้มีข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีแหล่งเงินได้นอกประเทศ และการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ก็ลดลงไปมาก
ประเด็นนี้ส่งผลให้ผู้คนแถวหน้าของตลาดทุน ทั้ง “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และผู้ก่อตั้ง Jitta (จิตตะ) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการวิเคราะห์หุ้นทั่วโลก ที่นักลงทุนไทยนิยมใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนต่างประเทศ ต่างออกมาเหยียบเบรกกันสุดลิ่ม
“ตราวุทธิ์” มองว่าแนวทางที่สรรพากรนำมาใช้นี้ เพราะคิดว่าคนที่สามารถลงทุนต่างประเทศ น่าจะมีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่เทคโนโลยีด้านการลงทุนต่างประเทศได้พัฒนาขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากได้ทำการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่าการลงทุนแต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว โดยนักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเริ่มลงทุนต่างประเทศได้แล้ว ด้วยเงินเพียงหลักร้อยหลักพันบาทเท่านั้น
หากมีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว กลุ่มคนที่น่าจะโดนผลกระทบหนักสุด คือนักลงทุนรายย่อยมากกว่า นักลงทุนรายใหญ่ ๆ ที่มีโอกาสลงทุนที่มากกว่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือโอนเงินกลับเข้าประเทศเลย
การลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะแตกต่างจากการมีรายได้อื่น ๆ เช่น จากการทำงาน หรือการมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เพราะหุ้นเป็นทรัพย์สินเสี่ยง มีโอกาสขาดทุนหรือมีกำไรก็ได้ รวมทั้งมีจำนวนการทำธุรกรรมการซื้อขายที่เยอะกว่า ทำให้การคิดภาษีมีความซับซ้อนสูง สร้างความสับสนในการปฏิบัติต่อนักลงทุน
ดังนั้น ในเรื่องนี้ ควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนที่จะต้องเสียภาษีทุกคน รวมทั้งยกตัวอย่าง กรณีมีการนำเงินไปลงทุนในพอร์ตการลงทุน 2 พอร์ต ที่จีนและที่อเมริกา ถ้าพอร์ตที่อเมริกากำไร แต่พอร์ตที่จีนขาดทุน แล้วนำเงินกลับมา เมื่อทำการคิดภาษีเฉพาะพอร์ตที่กำไร ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับนักลงทุน
และเห็นว่าเมื่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษี capital gain tax การลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็ควรจะได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะตรงกับที่ทางกรมสรรพากร ต้องการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้นภาษีภายในประเทศจัดเก็บแบบไหน ก็ควรจะนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศในแบบเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถนำเงินไปแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ดีจากทั่วโลกได้ เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อลงทุนได้กำไร นักลงทุนก็จะนำเงินกำไรที่ได้จากต่างประเทศกลับมาใช้จ่ายในประเทศ กระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนต่อไป น่าจะเหมาะสมกว่าที่จะจัดเก็บภาษีจากกำไรตั้งแต่ต้น
ขณะที่ “ภากร” เห็นว่าการเก็บภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบเฉพาะนักลงทุนในประเทศที่มีการลงทุนต่างประเทศ และต้องการนำเงินกลับมาในประเทศ เพราะต้นทุนของการลงทุนต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อาจกระทบน้อยกว่า เพราะเงินที่ลงทุนนอกประเทศส่วนใหญ่จะใช้ขยายการลงทุนต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ได้นำกลับมา
ประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามความชัดเจน คือภาครัฐจะตีความการจัดเก็บภาษี จะคิดต้นทุนจากอะไร รายได้หรือกำไร โดยหากคิดจากรายได้ อาจส่งผลกระทบนักลงทุนมากกว่าการคิดจากกำไร อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหลักการจัดเก็บภาษีเช่นนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกปรับใช้กันไปแล้ว
ด้าน “ไพบูลย์” ชี้ว่าต้องรอรายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แต่การจัดเก็บภาษีส่วนใหญ่จะเก็บจากกำไร จึงควรพิจารณาดูการลงทุนทั้งหมดในแต่ละปี หากมีกำไรก็เก็บ ถ้าขาดทุนก็ไม่เก็บ ไม่ใช่คิดจากกำไรอย่างเดียว จะไม่แฟร์กับนักลงทุน จึงต้องรอหารือกับทางกรมสรรพากรก่อน
มีเสียงครวญจากนักลงทุนรายย่อยมายัง “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่าการจัดเก็บภาษีตามแนวทางของกรมสรรพากรดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายเล็กรายน้อยที่ลงทุนในต่างประเทศมากที่สุด ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม เพราะเมื่อหักกลบลบหนี้สุทธิทั้งจากความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ตัวกลาง แม้จะลงทุนผ่านออนไลน์ก็ต้องจ่าย 0.15% ดังนั้นหากถูกเก็บภาษีไม่ว่าจะจากรายได้หรือกำไรหุ้นที่ไปลงทุนในต่างประเทศอีก ก็คงไม่เหลืออะไรเลย
เข้าใจนะว่า “กรมสรรพากร” ต้องหารายได้ในทุกช่องทาง แต่เรื่องนี้ก็เป็น “เผือกร้อน” ที่กรมสรรพากรคงจะต้องคิดสะระตะให้ดี ๆ