มอง SET ดีขึ้น แต่ไม่ได้ปรับขึ้นแรงหลังเศรษฐกิจโลกยังกดดัน
ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมากเป็นผลจาก 1.การขาดดุลการคลัง 2.การปรับประมาณการของ Fed 3.พันธบัตรระยะสั้นปรับขึ้นรุนแรง
InnovestX มองว่า ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมากเป็นผลจาก (1) การขาดดุลการคลังของรัฐบาล โดยล่าสุดหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเกิน 33 ล้านล้านดอลลาร์ (128% GDP) สูงเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงวินัยการคลังในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น (2) การปรับประมาณการของ Fed ทำให้ตลาดมองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น (3) เป็นการปรับขึ้นหลังจากพันธบัตรระยะสั้นปรับขึ้นรุนแรงในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ InnovestX มองว่า ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี จะยังอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ย ซึ่งจะกดดันต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจมากขึ้น
ด้านนโยบายการเงินไทย InnovestX มองว่า แม้ว่า ธปท. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าขึ้นรุนแรง (จาก 3.8% เป็น 4.4%) แต่ก็เป็นภาพในอนาคต ซึ่งยังขึ้นอยู่กับนโยบายการคลังของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยแย่ลงมาก เห็นได้จาก GDP ไตรมาสที่ 2 และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าที่ ธปท. เคยคาดการณ์มาก ด้วยดอกเบี้ยที่ยังขึ้นต่อ ขณะที่มาตรการภาครัฐยังไม่ชัดเจน จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงด้านลบ (Downside) ของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น สำหรับการส่งออกไทยที่เริ่มฟื้นตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน โดยการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมหลักเริ่มเพิ่มขึ้นบ้าง บ่งชี้ถึงสินค้าคงคลังที่หมดลง อย่างไรก็ตาม สินค้าที่บ่งชี้ความต้องการหลักของโลก เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ อัญมณี และเครื่องปรับอากาศ ชะลอต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าความต้องการยังคงเปราะบาง
นอกจากนั้น หากจะให้การส่งออกหดตัว -2.0% ในปีนี้ ในไตรมาสสุดท้ายต้องขยายตัวให้ได้มากกว่า 3% ซึ่งค่อนข้างท้าทาย ซึ่งตามปัจจัยฤดูกาล การส่งออกไตรมาสสุดท้ายจะชะลอกว่า 3 ไตรมาสแรก เนื่องจากผู้ขายในประเทศพัฒนาแล้วมักจะเร่งสะสมสต๊อกไว้ล่วงหน้า
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น InnovestX มองว่า แม้เดือน ก.ย. SET จะไม่สามารถสวนกระแสตลาดโลก โดยดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงและปิดหลุด 1,500 จุดเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ แต่ถือว่าตลาดหุ้นไทยยัง Outperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในเอเชีย ขณะที่เดือน ต.ค. แม้คาด SET จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากคาดหวังมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แต่อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ไม่สดใสและการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปยังมีแนวโน้มชะลอตัว จึงคาดจะยังกดดันบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ยังฟื้นตัวช้าหรือปรับขึ้นไม่แรงมากนัก ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงมองเป็น “โอกาสซื้อลงทุน” ในธีมที่มีปัจจัยเฉพาะตัว ดังนี้
1) หุ้นเก็งกำไร โดยแนะนำทยอยซื้อสะสมสำหรับหุ้นที่ราคา Oversold และยังมีปัจจัยพื้นฐานดี อีกทั้ง Valuation ไม่แพง (PER และ PBV 23F ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) เนื่องจากคาดราคาหุ้นจะรีบาวด์ได้ดี หาก SET ฟื้นตัว เลือก CPALL, TOP, CPN, BDMS และ MINT
2) หุ้นเก็งกำไรในธีมปิโตรดอลลาร์ โดยได้อานิสงส์จากกำลังซื้อของตลาดตะวันออกกลางดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 3/66 เลือก BH (ผู้ป่วยตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น)
3) หุ้นเก็งกำไรจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง เลือก PTTEP, BCP ทั้งนี้จะเริ่มเพิ่มความระมัดระวังการเก็งกำไรหาก Brent เกิน 100 เหรียญสหรัฐ
4) หุ้นซื้อลงทุน โดยคาดผลการดำเนินงานไตรมาส 3/66 จะมีการเติบโตดี และยังมีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องในไตรมาส 4/66 เลือก BCH, HANA, KCE, AOT และ ERW