พาราสาวะถี
สำหรับประเทศไทยด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ถูกฉีกและถูกปรับเปลี่ยนตลอดเวลาโดยคณะรัฐประหารที่ผลัดเวียนกันเข้ามาสู่อำนาจ
คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อย หลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน กรรมการอีก 33 คน จากเดิมที่มี 34 คน เนื่องจากตัดตัวแทนจากพรรคก้าวไกลออกไป หลังจากที่ประชุม สส.ของพรรคแกนนำฝ่ายค้านมีมติไม่ส่งคนเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ
นั่นก็คือ จุดยืนในการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และการจัดทำโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำได้คงเป็นเพียงแค่การขอข้อมูล รับฟังความเห็น และข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเท่านั้น เพราะเมื่อฟังแนวทางจากภูมิธรรมในฐานะประธานแล้วก็ชัดเจนว่า การแก้ไขครั้งนี้ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งไม่น่าจะตรงกับเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกลตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้จะคิกออฟประชุมนัดแรกวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เพื่อวางกรอบทำงาน และพบปะพูดคุยกับทุกภาคส่วน โดยตั้งเป้าเบื้องต้นไว้ว่าภายใน 3-4 เดือนน่าจะได้ข้อสรุปกระบวนการทำงาน ทั้งวิธีการ และแนวทางในการทำประชามติ แต่เป้าหมายโดยภาพรวมจะดำเนินการให้เสร็จภายในเวลา 3-4 ปีที่เป็นรัฐบาล ส่วนอีกองค์กรที่ไม่ตอบรับร่วมเป็นกรรมการคือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ผู้รวบรวมรายชื่อชงแนวทางคำถามทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญที่ส่งผ่าน กกต.มาให้รัฐบาล
เหตุผลที่ไอลอว์ไม่เข้าร่วมคือ ไม่อยากมาเป็นไม้ประดับหรือตราประทับความชอบธรรมในการเดินหน้าแก้ไขของรัฐบาล แต่ขอดูอยู่ภายนอก ซึ่งเรื่องนี้เสี่ยอ้วนก็ไม่มีปัญหา ไม่ขัดข้อง พร้อมยินดีที่จะพิจารณาเอกสาร ข้อเสนอที่ทางไอลอว์ยื่นมา ขณะที่รายชื่อของกรรมการนั้น ในส่วนนักวิชาการที่สังคมภาพใหญ่ให้การยอมรับ เช่น สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ส่วนนักกฎหมายที่มาจากฟากการเมืองทั้งที่สังกัดเพื่อไทยและที่เคยร่วมงานกับเพื่อไทยก็มากันครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ชูศักดิ์ ศิรินิล, พิชิต ชื่นบาน, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, นพดล ปัทมะ ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ระดับนำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นิกร จำนง จากชาติไทยพัฒนา ศุภชัย ใจสมุทร จากภูมิใจไทย ธนกร วังบุญคงชนะ ตัวแทนรวมไทยสร้างชาติ วิรัตน์ วรศสิริน จากเสรีรวมไทย เทวัญ ลิปตพัลลภ จากชาติพัฒนากล้า เดชอิศม์ ขาวทอง จากประชาธิปัตย์ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ตัวแทนไทยสร้างไทย ส่วนภาพตัวแทนของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่แต่นาทีนี้สังกัดเพื่อไทยคือ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
เมื่อมองจากสิ่งที่ภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ แนวทางการทำงานไม่ว่าที่ประชุมจะมีทิศทางอย่างไร คงหนีไม่พ้นที่จะต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยมี 3 ประเด็นคำถามสำคัญคือ กระบวนการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรทำแบบใด เช่น ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.หรือไม่ หากมีกระบวนการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อลดงบประมาณในการดำเนินการ เช่น ถ้าอาจทำ 4-5 ครั้งหากปรับให้เหลือทำ 2 ครั้งจะใช้งบ 5,000-8,000 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายได้มาก และคำถามในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไร จะให้ครอบคลุมแค่ไหน
ความน่าสนใจ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศสลายขั้วความขัดแย้งก็คือ การทำประชามติครั้งแรกจะได้ข้อสรุปเมื่อใด เสี่ยอ้วนบอกว่าต้องดูที่สถานการณ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน ในขณะที่พยายามสลายความขัดแย้ง ให้สังคมยอมรับไม่เกิดความขัดแย้งใหม่ ต้องดูผลลัพธ์จากนี้ว่าจะออกมาอย่างไร ที่ต้องเงี่ยหูฟังคือข้อเสนอแนะของ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติและแนวทางร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 2
ที่เจ้าตัวได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชี้ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เขียนคำว่า “หลักนิติธรรม” ไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ปัญหาพื้นฐานของบ้านเราคือรัฐธรรมนูญ และระบบการนำรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ กลับถูกวิจารณ์ว่าไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมเสียเอง การกำหนดให้มีหลักนิติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถส่งเสริมให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่ดีขึ้นมาได้
นั่นก็คือความจริงที่ว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเป็นธรรม โดยเฉพาะตลอดเวลากว่า 9 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้และตั้งคำถามก่อนที่จะมาเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กัน (อีกแล้ว) คือ ทำไมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างระบบนิติรัฐ จึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “เสาหลัก” ในการสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เหมือนในนานาประเทศ ที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำอย่างไรที่จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์และการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้จากทุกฝ่าย
เพื่อที่จะไม่ต้องมาตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง ถ้ากรรมการทุกคนทำการบ้านมาดี ก็จะมองเห็นปัญหาเหมือนที่กิตติพงษ์เห็นนั่นก็คือ การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหมายดังกล่าวต้องมีระบบการปกครองที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม ต้องยึดถือหลักกฎหมายเป็นใหญ่ หมายถึงกฎหมายต้องใช้บังคับกับทุกคน รวมทั้งกับผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายนั้นเองอย่างไม่เลือกปฎิบัติ นอกจากนี้ กฎหมายต้องมีเนื้อหาที่มีความเป็นธรรม มีที่มาโดยชอบธรรม และมีการบังคับใช้อย่างเที่ยงธรรมด้วย
สำหรับประเทศไทยด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่ถูกฉีกและถูกปรับเปลี่ยนตลอดเวลาโดยคณะรัฐประหารที่ผลัดเวียนกันเข้ามาสู่อำนาจ ประเทศไทยจึงกลับตาลปัตรกับนานาประเทศ โจทย์ที่ท้าทายกับรัฐบาลเศรษฐาก็คือ ในกระแสความขัดแย้งและความแตกต่างทางความคิดที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถร่างรัฐธรรมนูญที่เสริมสร้างกระบวนการปรองดองในชาติ รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และรัฐธรรมนูญที่สามารถสร้างหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยได้อย่างไร แต่กิตติพงษ์ก็มองโลกในแง่ดีว่า “โจทย์ยากมาก…แต่เป็นสิ่งที่คนไทยสมควรได้รับ”