KTB ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงิน “ฝาก-กู้” มีผล 5 ต.ค.นี้

KTB ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.10-0.45% ต่อปี พร้อมปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% มีผล 5 ต.ค.66


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินให้เข้าสู่ภาวะสมดุล พร้อมรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ธนาคารจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคำนึงถึงผู้ฝากเงิน และพิจารณาอย่างรอบคอบถึงภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการดูแลลูกค้าให้สามารถปรับตัว สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

โดยธนาคารประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.10-0.45% ต่อปี  เพื่อส่งเสริมวินัยการออม เพิ่มผลตอบแทนและรายได้ให้กับลูกค้าในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น สร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับบุคคลธรรมดา ประเภทเงินฝากประจำ 24 เดือนเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.45% เป็น 2.40% ต่อปี  และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน 0.30% เป็น 2.65% ต่อปี พร้อมสนับสนุนการฝากเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ผ่านเงินฝาก Krungthai NEXT Savings เปิดบัญชีง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT อัตราดอกเบี้ย 1.50%  และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ระดับ 7.05% ต่อปี  อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ระดับ 7.52% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) อยู่ที่ระดับ 7.57% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธนาคารยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งครัวเรือนบางส่วนที่ยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ฟื้นตัวช้า รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าได้รับความช่วยเหลือแบบตรงจุดและทันท่วงทีและมาตรการช่วยเหลือพิเศษเพื่อแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารจะเสนอแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้า  พร้อมดำเนินนโยบายด้านสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

Back to top button