KTB-BBL ท็อปพิก! โบรกเชียร์ “ซื้อ” รับดอกเบี้ยขาขึ้น หนุน NIM ไตรมาส 4 โตแกร่ง
KTB-BBL ท็อปพิก! รับอานิสงส์ขึ้นดอกเบี้ยเดือนก.ย. หนุนส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไตรมาส 4 โตแกร่ง ฟากโบรก อัพเป้าใหม่ BBL เป็น 204 บาท ส่วน KTB ปรับขึ้นเป็น 25.40 บาท โดยทั้งสองให้คำแนะนำ “ซื้อ”
บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (CLSA) ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน หลังจากล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน จะช่วยให้กลุ่มธนาคารมี NIM ที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3/2566 และไตรมาส 4/2566 โดยจะเริ่มเห็นหลายธนาคารออกมาประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม และเงินฝากตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.2566 เป็นต้นมา
ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นการเติบโตของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สำหรับกลุ่มแบงก์เมื่อประกาศงบการเงินในเดือนนี้ โดยก่อนหน้านี้ BBL, SCBX และ TTB ประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และคาดว่ากลุ่มธนาคารอื่นๆ จะประกาศตามในอีกไม่กี่วันนี้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อ NIM ในไตรมาส 4/2566 อย่างไรก็ตาม CLSA คาดว่าธปท.จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้วหลังจากนี้
โดยมองว่า NIM ของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จะมีความอ่อนไหวมากที่สุดต่อความเคลื่อนไหวของดอกเบี้ยจากการที่มีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่หลากหลาย และเป็นแนะนำ “ซื้อ” Top Buy สำหรับ CLSA โดยระบุว่าจากผลการวิเคราะห์ BBL มีค่าสหสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในกลุ่ม ส่วน SCBX มีเพียงเล็กน้อย และ TTB กับ TISCO มีค่าสหสัมพันธ์ติดลบ
ด้านต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ (Credit Costs) ซึ่งทางฝ่ายวิจัยมองว่ามีความเสี่ยงน้อยที่จะสูงขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากมีการตั้งสำรองก้อนใหญ่ไว้แล้ว โดยธนาคารเริ่มมีการนำส่วนเกินจากการตั้งสำรองก่อนหน้านี้มาใช้ อย่างไรก็ตาม มองว่า NPL ยังไม่ขึ้นถึงจุดสูงสุด และอาจจะเห็นเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2567 อย่างเร็วที่สุดจากการที่ครัวเรือน และ SME มีฐานะการเงินที่เปราะบางจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนเรื่องมาตรการพักหนี้นั้น CLSA มีมุมมองเป็นลบ เนื่องจากจะเป็นเพียงการชะลอ NPL เท่านั้น
ด้านการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มองว่ากลุ่มธนาคารไม่น่าจะได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการนี้ นอกเหนือจากว่ารัฐบาลจะจัดสรรผ่านแอปของธนาคาร และหากใช้แอปเป๋าตังที่มีอยู่แล้ว ก็จะเป็นผลบวกต่อ KTB
ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัยเพิ่มราคาเป้าหมาย BBL จากเดิม 198 บาท ปรับขึ้นเป็น 204 บาท ส่วน KTB เพิ่มขึ้นจากเดิม 24.50 บาท ปรับขึ้นเป็น 25.40 บาท โดยทั้งสองให้คำแนะนำ “ซื้อ”
นอกจากนั้นแล้วยังปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ปรับขึ้นจาก 165 บาท เป็น 167 บาท และบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ปรับขึ้น 134 บาท จากเดิมเป็น 135 บาท โดยให้คำแนะนำ ซื้อ เช่นกัน
ส่วนหุ้นแบงก์เล็กมอง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เป็นบวก ซึ่งหากวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยจบลงแล้ว TISCO จะมีข้อได้เปรียบจากพอร์ตสินเชื่อ และเงินฝาก นอกจากนั้นแล้ว TISCO ยังอยู่ระหว่างการผลักดันธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ภายใต้แบรนด์ สมหวัง เพื่อให้เห็นการเติบโตของผลตอบแทนสินเชื่อ โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 117 บาท
นอกจากนี้ปรับลดราคาเป้าหมายของ KKP ลงจากเดิม 91 บาท เหลือ 72.49 บาท หลังจากเห็นการตั้งสำรองที่สูงที่มาจากปัญหาธุรกิจเช่าซื้อ ส่วนคุณภาพสินทรัพย์จะเป็นข้อด้อยของ KKPS อย่างไรก็ตามยังมองว่ายังมีช่องว่างให้ฟื้นตัวอยู่ โดยคาดว่าจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มวัฎจักรตลาดทุนที่ดีขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ยังคงคำแนะนำซื้อ KKPS อยู่แม้ราคาเป้าหมายจะลดลงก็ตาม