ตลท. ขับเคลื่อน “ตลาดหุ้น” สู่สากล เพิ่มโอกาสลงทุนไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจ

ตลท. ถอดบทเรียนบทความตลาดหลักทรัพย์ไทยกับบทบาทในเวทีโลก มุ่งมั่นเป็นตัวแทนที่ดีภาคเศรษฐกิจ สู่นานาชาติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนสู่ตลาดทุนไทย อันจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแผร่บทความ “ตลาดหลักทรัพย์ไทยกับบทบาทในเวทีโลก” ว่านอกเหนือจากบทบาทหลักในการเป็นหนึ่งในเสาหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนให้กับภาคธุรกิจทุกขนาดทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขยายไปสู่อุตสาหกรรมใหม่และระบบนิเวศดิจิทัล การส่งเสริมพัฒนาการด้านคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน และการเป็นแหล่งการลงทุนและการออมให้กับผู้ลงทุนทุกประเภท เพื่อส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เติบโตทั้งเชิงธุรกิจ อุตสาหกรรมตลาดทุน สังคม และประเทศอย่างยั่งยืนนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงในภูมิภาค การส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศและเศรษฐกิจไทยสู่สายตาของนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลากหลายบทบาทสำคัญในเวทีโลก

ตลาดทุนไทยโดดเด่นเมื่อเทียบเคียงตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค

ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 24 ของโลกในปัจจุบัน และได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ชั้นนำของโลก (advanced emerging market) โดย FTSE Russell ตลาดทุนไทยมีความโดดเด่นหลายมิติ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเมื่อเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค

โดยเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2555 อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสม 5 ปีย้อนหลังสูงที่สุดในอาเซียน และมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยในตลาดอนุพันธ์เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนในเชิงคุณภาพ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่เข้าเป็นสมาชิก United Nations Sustainable Stock Exchanges (SSE) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนางานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นได้เรียนรู้ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลสูงที่สุดในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดย S&P Global ที่มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีถึง 26 บริษัท สูงที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ในขณะที่ดัชนี FTSE4Good Index และ MSCI ESG Universal Index มีบริษัทจดทะเบียนไทยอยู่ 42 และ 41 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ จากการประกาศล่าสุดของ The Sustainability Yearbook 2023 โดย S&P Global บริษัทไทยได้รับการจัดอันดับในระดับ Gold Class 12 บริษัท มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก สะท้อนถึงความโดดเด่นของธุรกิจไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันจากทั่วโลก และสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมความพร้อมบริษัทมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริษัทก้าวสู่ดัชนีสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อันนำไปสู่ความน่าสนใจในการลงทุนสู่ประเทศไทย

บทบาทตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระดับนานาชาติ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมโยงการลงทุนสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV  

ตลาดทุนไทยมีบทบาทในการเชื่อมโยงการลงทุนสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม โดยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน CLMV ที่เป็นกลุ่ม frontier market ในด้านการพัฒนาความรู้ทางการเงินและการปรับเกณฑ์เพื่อส่งเสริมให้บริษัทในกลุ่มประเทศ CLMV มาระดมทุนผ่านตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เชื่อมโยงตลาดทุนไทยสู่กลุ่มประเทศ CLMV ผ่านการออกดัชนี SET CLMV Exposure ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นไทยที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV โดยพิจารณาจากรายได้ของบริษัทจดทะเบียนจากกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดซื้อขาย Depositary Receipt (DR) ตัวแรกเมื่อปี 2561 อ้างอิงกองทุน Exchange Traded Fund (ETF) ที่ลงทุนในดัชนี VN30 ที่เป็นดัชนีหุ้นชั้นนำ 30 ตัว ของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนไทยกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้สะดวก ผ่านการซื้อขาย DR ในรูปสกุลเงินบาท ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยปัจจุบันได้ขยายไปยังสินทรัพย์อ้างอิงของประเทศอื่นๆ อีกมากมาย รวมมี DR อ้างอิงหุ้นต่างประเทศถึง 19 รายการด้วยกัน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับบทบาทผู้นำการสร้างมาตรฐานและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้นำในอาเซียนที่ผลักดันนโยบายความร่วมมือ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหลักทรัพย์อาเซียน อาทิ การขับเคลื่อนความยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามตลาด (cross-border products) เพื่อขยายโอกาสการลงทุน การยกระดับตลาดหลักทรัพย์อาเซียนและการลงทุนที่ยั่งยืน การขยายการรับรู้ถึงศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนแก่ผู้ลงทุนนานาชาติผ่านการพัฒนาเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์อาเซียนและการจัดโรดโชว์ เป็นต้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผลักดันให้จัดตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืน (ESG Working Group) ขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในอาเซียน ที่สนับสนุนให้การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนอาเซียนมีความสอดคล้องกัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ลงทุนทั่วโลกสามารถนำไปใช้ในการเปรียบเทียบและตัดสินใจลงทุน ซึ่งทำให้เกิดการขยายผล และนำไปสู่การจัดทำ ASEAN Exchanges Common ESG Metrics ที่เป็นมาตรฐานขึ้น และได้เผยแพร่เมื่อการประชุม ASEAN Exchanges CEOs ครั้งที่ 36 ในเดือนกันยายน 2566

(Link: https://www.aseanexchanges.org/content/common-esg-metrics/)

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมผู้ลงทุนต่างประเทศให้เข้าถึงบริษัทจดทะเบียนไทยโดยผ่าน DR ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผลักดันการสร้างความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ข้ามตลาดอาเซียน ด้วย DR ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนา DR เพื่อให้ผู้ลงทุนไทยกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์หรือกองทุนต่างประเทศแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนต่างประเทศได้เข้าถึงบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยเช่นกัน เริ่มต้นด้วยความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange: SGX)

โดยปัจจุบัน มี 3 หลักทรัพย์ไทยที่เข้าจดทะเบียนในรูปแบบ DR ใน SGX เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ได้รู้จักหลักทรัพย์ไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ และบทวิเคราะห์ และสามารถเข้าถึงหุ้นไทยได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยายความร่วมมือด้าน DR นี้ กับตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียนต่อไป

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เน้นสื่อสารข้อมูลตลาดทุนไทยไปยังผู้ลงทุนและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นพันธมิตรกับองค์กรในระดับนานาชาติและริเริ่มกิจกรรมเชิงรุกที่หลากหลาย เพื่อสื่อสารข้อมูลภาพรวมของประเทศไทย เศรษฐกิจและตลาดทุนไทย รวมถึงบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีผลประกอบการที่โดดเด่นสู่สายตานานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนโดยตรง สื่อต่างประเทศ หรือองค์กรต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทย หรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมมือกับพันธมิตรในตลาดทุน จัดงานโรดโชว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน Thailand Focus เป็นประจำทุกปี เพื่อชูศักยภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยแก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก และสร้างโอกาสใหม่เพื่อเชื่อมโยงการลงทุน รวมถึงการจัดโรดโชว์ไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นการจัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง และการร่วมจัดกับตลาดหลักทรัพย์พันธมิตร อาทิ การร่วมมือกับกลุ่มตลาดหลักทรัพย์อาเซียน และ FTSE Russell ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์อาเซียน ในงาน ASEAN & FTSE Roadshow 2022 ให้แก่ผู้ลงทุนในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange: SZSE) จัดโรดโชว์ผ่านแพลตฟอร์ม V-Next ของ SZSE เพื่อแสดงศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนและสถาบันตัวกลางของทั้งสองประเทศให้แก่ผู้ลงทุนจีนและต่างชาติ มุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมภาคการผลิต ยานพาหนะไฟฟ้า และพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่การสื่อสารไปยังผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารไปยังองค์กรในระดับนานาชาติด้วย โดยได้ริเริ่มจัดงาน “Embassies @ SET” ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเชิญชวนเอกอัครราชทูต ทูตพาณิชย์ ทูตการค้า และเจ้าหน้าที่การทูต จากสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการเชื่อมโยงและให้ข้อมูลด้านการค้าการลงทุนของแต่ละประเทศ ให้ร่วมรับฟังข้อมูลศักยภาพตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจของประเทศไทย ความโดดเด่นด้านการพัฒนาความยั่งยืนและความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อเปิดมุมมองให้เห็นถึงโอกาสการลงทุนในประเทศไทย นับเป็นการขยายการรับรู้

พร้อมสร้างโอกาสและการเชื่อมโยงในการทำธุรกิจกับต่างประเทศมากขึ้น โดยได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากคณะทูตประเทศต่างๆ มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของตลาดทุนไทย ให้ตอบโจทย์ผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดพัฒนาความร่วมมือทั้งกับสถานเอกอัครราชทูตและตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆ จากการจัดงานนี้ในหลายโครงการด้วยกัน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสมาชิกที่มีบทบาทขององค์กรตลาดทุนนานาชาติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอกย้ำบทบาทในเวทีโลกผ่านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีบทบาทในองค์กรระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน อาทิ  สมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) สหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์ภาคพื้นเอเชียและโอเซียเนีย (Asian and Oceanian Stock Exchanges Federation: AOSEF) รวมถึง Association of National Numbering Agencies (ANNA), Association of Futures Market (AFM), Global Association of Central Counterparties (CCP12) เป็นต้น

โดยผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี การเข้าร่วมเป็นวิทยากร คณะกรรมการและคณะทำงาน ตลอดจนการนำเสนอข้อมูล โครงการ และพัฒนาการสำคัญของตลาดทุนไทยผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ ขององค์กรนานาชาติเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและเอื้อต่อพัฒนาการของตลาดทุนไทยและภูมิภาค โดยล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “SGX-SET Depositary Receipt (DR) Linkage” เพื่อแชร์ประสบการณ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามตลาดให้แก่สมาชิก AOSEF ได้รับทราบข้อมูลและเพิ่มโอกาสความสนใจในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นเป็นตัวแทนที่ดีของภาคเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยด้วยผลงานที่แข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเป็นผู้นำของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในหลายมิติ ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อนำเสนอข้อมูลที่โดดเด่น ความน่าสนใจ และภาพลักษณ์ที่ดีของตลาดทุนไทย สู่นานาชาติอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนสู่ตลาดทุนไทย อันจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

Back to top button