KKPS เปิดมุมมองเศรษฐกิจ-วินัยการคลัง

KKPS เผยมุมมองเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวินัยการคลัง โดยมองการท่องเที่ยวไตรมาส 4 จะฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนค่าเงินบาทให้มีแนวโน้มดีขึ้น


บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS จัดทำบทวิเคราะห์ร่วมกับ BofA Global Research โดยมีมุมมองเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และวินัยการคลัง ประกอบด้วย

อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ยอมขึ้นต่อ

รัฐบาลใหม่ของไทยได้อนุมัติมาตรการอุดหนุนหลายชุดควบคู่ไปกับกรอบการคลังในระยะกลางใหม่ ซึ่งกรอบการทำงานนี้เล็งเห็นผลของการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้น และอาจแตะเพดานหนี้ที่ 70% ต่อ GDP

นโยบายหลักของรัฐบาลคือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่มีเป้าหมายที่จะอัดฉีดเงิน 10,000 บาทให้กับทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งจะใช้เงินมูลค่า 5.6 แสนล้านบาทหรือประมาณ 3% ของ GDP ในขณะที่การจัดหาเงินสำหรับกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน และอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้

การอนุมัติการปรับลดราคาไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลของคณะรัฐมนตรี จากการลดภาษีสรรพสามิตสร้างแรงกดดันต่อภาระการคลังในสภาพแวดล้อมที่ราคาพลังงานสูงขึ้นนี้อีกเช่นกัน

นโยบายเหล่านี้อาจมีผลกระทบอย่างมากต่อบัญชีกระแสเดินสะพัด ความยั่งยืนของหนี้ และสภาพคล่องโดยรวมในตลาดการเงินของประเทศ เนื่องจากงบประมาณที่ใช้อัดฉีดมีขนาดใหญ่และสามารถกระตุ้นการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งจะไปเพิ่มการนำเข้าให้สูงขึ้นแทน ในทำนองเดียวกัน การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงและไฟฟ้าก็ยังเป็นการส่งเสริมการนำเข้าพลังงานอีกเช่นกัน

ในแง่ปัญหาสภาพคล่อง การใช้ธนาคารของรัฐอาจช่วยชะลอความจำเป็นในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ด้วยพันธบัตรรัฐบาลได้ แต่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันกันระดมเงินฝากจากการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในอนาคต

ความเสี่ยง

แม้ว่ากรณีพื้นฐานของ KKPS/BofA Global Research คือการไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่นักวิเคราะห์เห็นว่ามีความเสี่ยงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจพิจรณาถึงการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง เพื่อเป็นการสกัดและป้องกันความเสี่ยงก่อนที่จะเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นได้

นอกจากนั้น นโยบายเหล่านี้เมื่อรวมกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจขัดขวางการกลับมาเป็นบวกของดุลบัญชีเดินสะพัด และสร้างแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน USD/THB อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องของ เงินบาทได้รับการสนับสนุนจากนโยบายขยายตัวของรัฐบาลอย่างจำกัด เนื่องจากเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องตามข้อมูลการค้าที่อ่อนแอ การขาดดุลการค้าของไทยยังคงมีขนาดกว้างอยู่ จากการนำเข้าพลังงานที่สูงขึ้นและการส่งออกที่อ่อนแอ

นอกเหนือจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงและการนำเข้าสินค้าอื่นๆ ที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการฟื้นตัวของบัญชีเดินสะพัดอีกด้วย

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเพิ่มเติมในไตรมาส 4 ที่แข็งแกร่งตามฤดูกาล จะช่วยปรับปรุงแนวโน้มของเงินบาทให้ดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อแนวโน้มดังกล่าว โดย BofA Global Research ได้ปรับคาดการณ์ USDTHB ในสิ้นปี 2566 ให้สูงขึ้นเป็น 35/USD จากการแข็งค่ามากขึ้นของเงิน USD

Back to top button