จับตารื้อใหญ่บอร์ดปตท. “ทศพร” ไม่พ้นไขก๊อก
สัญญาณชัด! “ปรับโครงสร้างกรรมการปตท.” ครั้งใหญ่ก่อนสิ้นปีนี้ ตามด้วยการปรับโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงช่วงต้นปีหน้า กระฉ่อน “ทศพร ศิริสัมพันธ์” ยื่นลาออกในที่ประชุมวาระลับ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมตั้ง “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ขึ้นนั่งประธานแทน มีผล 15 พ.ย.นี้ ล่าสุดยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ ฟาก “ปลัดพลังงาน” ระบุเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องปตท.ผมตอบอะไรไม่ได้จริง ๆ ตามพ.ร.บ.มหาชน” อย่างไรก็ดีบอร์ดปตท.มีมติแต่งตั้ง “ผยง ศรีวณิช” เป็นประธานกรรมการสรรหา ส่วน “พงศธร ทวีสิน” เป็นกรรมการอิสระและกรรมการผู้มีอํานาจลงนามผูกพันบริษัท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ครั้งใหญ่ใน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และนั่นหมายถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารระดับสูงของปตท.ตามมาอีกครั้ง ช่วงประมาณไตรมาส 1/2567 ถือว่าสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ จากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการปตท. ที่มีรายงานว่า การประชุมบอร์ดปตท.วันที่ 19 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีการประชุมวาระลับต่อเนื่อง หลังจากพิจารณาวาระปกติเสร็จสิ้นลง โดยมีรายงานว่าเป็นการรับทราบการลาออกของดร.ทศพรจากตำแหน่งประธานกรรมการปตท. และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป พร้อมกับมีรายงานอีกเช่นกันว่า ที่ประชุมคณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงานและบอร์ดปตท. ขึ้นเป็นประธานกรรมการปตท.แทน
กรณีดังกล่าวทีมข่าวของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงไปยังนายประเสริฐ (ปลัดกระทรวงพลังงาน) แต่เจ้าตัวปฏิเสธที่ให้รายละเอียดได้ โดยมีคำตอบกลับมาเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องปตท.ผมตอบอะไรไม่ได้จริง ๆ เป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนฯ ครับ”
พร้อมกันนี้ประเด็นการยื่นใบลาออกจากประธานกรรมการปตท.ของดร.ทศพรและการแต่งตั้งนายประเสริฐมานั่งประธานกรรมการปตท.แทน โดยเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และปตท.ยังไม่มีการแจ้งข้อมูลอย่างเป็นทางการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่อย่างใด
สำหรับการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการปตท. จะมีผลต่อการต่ออายุตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท.รอบที่ 2 ของนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะครบวาระช่วงเดือน ก.ค. 2567 (ปัจจุบันอายุ 58 ปี) ด้วยหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดคะเนหรือประเมินสถานการณ์ดังกล่าวได้แต่อย่างใด
โดยผลการประชุมบอร์ดวาระปกติ (19 ต.ค. 2566) ได้มีมติการแต่งตั้งกรรมการเฉพาะเรื่อง โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 มติอนุมัติแต่งตั้งนายผยง ศรีวณิช กรรมการอิสระ เป็น “ประธานคณะกรรมการสรรหา” (หลังจากนายดนุชา พิชยนันท์ กรรมการอิสระ และประธานกรรมการสรรหา ลาออกจากตําแหน่งกรรมการปตท. เนื่องจากมีภารกิจอื่น และมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป)
พร้อมกันนี้ มีมติแต่งตั้งนายลวรณ แสงสนิท กรรมการเป็น “กรรมการ” (คงเดิม) และแต่งตั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการอิสระ เป็น “กรรมการ” (แต่งตั้งใหม่) และแต่งตั้งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการอิสระ เป็น “ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน” (คงเดิม) และรศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต กรรมการอิสระ เป็น “กรรมการ” (คงเดิม)
นอกจากนี้ มีมติรับทราบการเพิ่มจำนวนกรรมการที่เป็น “กรรมการอิสระ” โดยเปลี่ยนแปลงการดำรงตำแหน่งกรรมการของนายพงศธร ทวีสิน จาก “กรรมการ” ให้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการอิสระ” เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป หลังจากการประชุมคณะกรรมการปตท. (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้นายพงศธร ทวีสิน เป็นกรรมการผู้มีอํานาจลงนามผูกพันบริษัท
สำหรับรายชื่อกรรมการผู้มีอํานาจลงนามผูกพันบริษัท คือ 1) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ลงลายมือชื่อและประทับตราสําคัญของบริษัท หรือ 2) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ และนายพงศธร ทวีสิน กรรมการ 2 คนนี้ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสําคัญของบริษัท โดยปตท.จะดําเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการผู้มีอํานาจลงนามต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ดร.ทศพรได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรื่องการตีความข้อบังคับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อย่างเคร่งครัด (ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ต.ค. 2566) โดยอ้างว่าอาจมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับบริษัทผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด อาจทำให้การกระทำต่าง ๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมายและถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง
โดยมีการหยิบยกข้อบังคับปตท.ข้อ 34 ว่าด้วยเรื่องการพันจากตำแหน่งตามวาระตามที่กำหนดไว้คือประธานกรรมการ หรือกรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 1)พ้นตามวาระ 2)ลาออก 3)ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ 30 4)ขาดการประชุมคณะกรรมการเกิน 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร 5)ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือข้อบังคับ 6) ศาลมีคำสั่งให้ออก
หลังจากนั้นนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ลงนามแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการปตท. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 โดยระบุว่า คณะกรรมการและผู้บริหารปตท.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์และข้อบังคับบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม