เงินเลวไล่เงินดี กับค่าดอลลาร์และ Pax Americana

คนที่รู้จักคุ้นเคยกับจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ จะสนใจกับ “ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการจ้างงาน ดอกเบี้ยและเงิน” ซึ่งเป็นทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค


คนที่รู้จักคุ้นเคยกับจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ จะสนใจกับ “ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยการจ้างงาน ดอกเบี้ยและเงิน” ซึ่งเป็นทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค ที่ขึ้นชื่อลือเลื่องของเขา จนเกือบลืมไปว่าเขาได้ศึกษาเรื่องการเงินมาอย่างรอบด้านโดยเฉพาะเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน

ในทฤษฎีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเคนส์ นำเสนอว่าด้วยเงินเลวไล่เงินดีขึ้นมาโดยระบุว่า เงินทุกสกุลในโลกนี้นับวันจะเสื่อมค่าลงไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าโดยทั่วไป แต่บางครั้งเงินสามารถเสื่อมค่าไปเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ยากจะคาดเดาโดยเฉพาะในช่วงเวลาของความผันผวนในตลาดทั่วไป

ถ้าถืออย่างเถรตรง ค่าดอลลาร์สหรัฐจะต้องเสื่อมค่าลงจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพราะว่าสหรัฐฯ นั้นขาดดุล 3 ด้านมาอย่างเรื้อรังนั้นคือ การขาดดุลงบประมาณ การขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง

ล่าสุดยังพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมโดยผ่านมาตรการ QE มากมายกว่าเดือนละ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเป็นเวลายาวนานกว่า 5 ปี

แต่ค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกลับแข็งค่าขึ้นมาอีกเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญของโลก รวมทั้งจีนที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษ ด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือสหรัฐฯ สามารถใช้เงินดอลลาร์อิงเข้ากับราคาสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้แก่ น้ำมันดิบที่มีวงเงินซื้อขายมากกว่าวันละ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

การอิงค่าดอลลาร์ให้เป็นเงินสกุลที่ใช้เพื่อการค้าขายน้ำมันดิบดังกล่าวตามข้อตกลงกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ปี 1973 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หลังจากวิกฤตราคาน้ำมันครั้งแรกของโลกเกิดขึ้น ส่งผลให้ค่าดอลลาร์สหรัฐมีราคาสูงเกินจริงเทียบกับขนาดมูลค่าของเศรษฐกิจสหรัฐเองถึงกว่า 30% และยังทำให้โลกไม่สามารถปฏิเสธกระบวนการพลิกสถานการณ์บิดเบือนค่าของดอลลาร์ด้วยการที่เฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐชี้นำให้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาได้

เงินดอลลาร์ที่ความจริงแล้วเป็นเงินเลว จึงได้กลายสภาพเป็นเงินดีขึ้นมาจนทำท่าว่าจะย้อนแย้งทฤษฎีเงินเลวไล่เงินดีของเคนส์อย่างท้าทาย

แต่เรื่องนี้สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่า ทฤษฎีของเคนส์นั้นจะยังคงใช้การได้เสมอถ้าหากถึงเวลาที่สหรัฐฯ ไม่สามารถใช้ดอลลาร์ควบคุมโลกได้เหมือนเช่นในปัจจุบัน ตราบใดที่โลกสามารถพึ่งพาพลังงานอื่น ๆ ที่มีราคาต่ำกว่าปิโตรเลียมได้อย่างจริงจังแล้ว ซึ่งแม้จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่อนาคตได้ถูกกำหนดไว้แล้ว

กรณีศึกษาอย่างเช่นที่เทคโนโลยีการส่งโทรเลข  และไปรษณียภัณฑ์หลายอย่างที่มาถึงจุดจบซึ่งคนในปัจจุบันเลิกรู้จักกันไปแล้วเมื่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่ และผู้ผลิตรถยนตร์อเมริกันอย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ และไครสเลอร์กำลังนับวันถอยหลังอย่างรวดเร็วเมื่อเจอเกมรุกจากค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากเอเชียและยุโรปในยามนี้อย่างเอาเป็นเอาตาย

ถึงเวลาดังกล่าว  เราอาจจะได้เห็นอาณาจักรอเมริกันหรือ Pax Americana กลายสภาพเป็นรัฐเบี้ยหัวแตกที่หมดสภาพในเมื่อรัฐแบบอเมริกันไม่เป็นที่พึงปรารถนา

เพียงแต่ความเป็นไปได้ของเรื่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเร็ววัน แต่การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลายเป็นเงินเลวจริงจังอาจจะไม่ใช่ความเพ้อฝันอีกต่อไปในอีกไม่นานจนเกินรอ

Back to top button