“ชาวไร่อ้อย” ค้านคุมราคา “น้ำตาล” หวั่นกระทบต้นทุน ชี้มติ ครม.ดันลอบส่งออก-ประเทศขาดแคลน

“ชาวไร่อ้อย” ค้านคุมราคา "น้ำตาล" หวั่นกระทบต้นทุน ชี้มติ ครม.ทำปริมาณน้ำตาลทรายไหลออกต่างประเทศและจะส่งผลให้น้ำตาลทรายตึงตัว และอาจขาดแคลนในที่สุด


นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเบรกขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศทำให้น้ำตาลทรายขาวจาก กก.ละ 19 บาท เป็นราคา กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิม กก.ละ 20 เป็น กก.ละ 24 บาท ว่า ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกราคาขยับไป 26-27 เซนต์ต่อปอนด์คิดกลับไทยอยู่ที่ 27-28 บาท/กิโลกรัม ส่วนต่างราคาหน้าโรงงานกับราคาในตลาดที่ต่างกันมากเหตุใดพาณิชย์ไม่คุมหรือดูแลเพื่อให้ประโยชน์นั้นตกกับชาวไร่ และตัวแทนพาณิชย์ก็อยู่ในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงราคาขายปลีกในต่างจังหวัดได้ปรับขึ้นไปแล้วบางพื้นที่สูงถึง 28 บาท/กก.ด้วยซ้ำไป และการกำหนดแนวทางดังกล่าวจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายไหลออกต่างประเทศและจะส่งผลให้น้ำตาลทรายตึงตัวและอาจขาดแคลนในที่สุดรัฐพึงต้องระวังด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายมีการปรับตัวลดลง 2-3 บาท/กก. และทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่อง สินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบไม่เห็นปรับลดราคาลงเลย แต่ตอนนี้ราคาตลาดโลกปรับตัวสูงกลับจะมาควบคุมทั้งที่ราคาประกาศ เพื่อคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายปี 2566/67 เพื่อให้ประโยชน์ตกกับชาวไร่ ส่วนราคานั้นได้ทยอยปรับขึ้นไปในท้องตลาดแล้ว

ภายใต้กฎหมายปัจจุบันราคาน้ำตาลไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมและกำหนดราคาลอยตัวไปแล้ว สาเหตุหลักมาจากการที่ไทยถูกบราซิลฟ้องร้องว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศ ขัดกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากย้อนกลับมาดำเนินการเช่นเดิมจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่า โดยปี 2561 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่ง ม.44 ลอยตัวน้ำตาล จากนั้นก็ได้มีการปรับกฎหมายต่างๆ ให้สอดรับเพราะบราซิลเตรียมจะฟ้องร้องไทย แม้ชาวไร่อ้อยจะคัดค้านแต่ก็ไม่ได้ผล

Back to top button