CLSA หั่นเป้า SCC เหลือ 318 บาท หวั่น “ธุรกิจเคมี” กดดันก่อนฟื้นตัวปีหน้า
CLSA ปรับลดราคาเป้าหมาย SCC เหลือ 318 บาท จากเดิม 375 บาท สาเหตุจากปรับลดส่วนต่างสารเคมีปี 66-68 อย่างระมัดระวังมากขึ้น กังวลต้นทุนแนฟทาสูง รวมถึงบริษัทย่อย LSP เวียดนามหลังเข้าไปลงทุนขาดทุน 1.5 พันล้านบาท คาดกำไรปีนี้ลดลง 20% แต่เชื่อว่าส่วนต่างราคาสารเคมีจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2567 และปีต่อๆ ไป
บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CLSA ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ระบุถึงหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC โดยคงคำแนะนำในระดับโดดเด่น (Outperform) แต่ปรับลดราคาเป้าหมายจากเดิม 375 บาท เหลืออยู่ที่ 318 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาเป้าหมาย 293 บาท ของวันที่ประเมินไว้ก่อนหน้า (27 ตุลาคม 2566) ที่ผ่านมา อัพไซด์อยู่ที่ประมาณ 9% และคิดเป็น 0.9 เท่า ของอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) ในปี 2567 และ 15.4 เท่า ของอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) จากวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow: DCF) จากการทบทวนสมมติฐานส่วนต่างราคาสารเคมีในปี 2566-2568
โดยปรับลดสมมติฐานส่วนต่างราคาสารเคมีปี 2566-2568 อย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประมาณการกำไรสุทธิในปี 2566 ลดลงที่ 20% จากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ถัดมาในปี 2567 ลดลงที่ 15% จากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และในปี 2568 ลดลงที่ 17% จากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า
ขณะที่ SCC วางแผนที่จะปิดเครื่องแครกเกอร์ ROC เป็นเวลาหนึ่งเดือนเพื่อซ่อมบำรุงในไตรมาส 4 ปี 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างจำกัดเนื่องจากส่วนต่างราคาที่อ่อนแอ
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า SCC จะมีกำไรสุทธิของปี 2566 อยู่ที่ 38,789 ล้านบาท จากแนวโน้มงบดุลที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งมีการใช้ทุนต่ำ จากการสร้างเครื่องจักรของบริษัทย่อยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ประกอบกับปัจจัยหนุนคือการฟื้นตัวของความต้องการปูนซีเมนต์ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน แต่ต้องระวังปัจจัยมหภาคและต้นทุนแนฟทาของธุรกิจเคมีที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเชื่อว่าราคาหุ้นของ SCC ได้สะท้อนจุดต่ำสุดของวัฏจักรแล้ว
ด้านผู้บริหารของ SCC กลับมีมุมมองตรงข้ามกับการคาดการณ์การบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอของ CLSA โดยผู้บริหารมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของภาคที่อยู่อาศัยและพาณิชย์ การบริโภคในประเทศไทย และอาเซียน จากโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ การปรับปรุงโรงแรมและรีสอร์ท และโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในไตรมาส 3/2566 นั้นความต้องการปูนซีเมนต์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอุปทานที่อ่อนแอลงจากกลุ่มที่อยู่อาศัย และพาณิชย์กดดันความต้องการในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นเติบโตอย่างแข็งแกร่งไปจนหมด
ขณะเดียวกัน SCC ยังเห็นการเติบโตของความต้องการในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ส่วนอุปทานปูนซีเมนต์ในเวียดนามลดลง 12% ขณะที่กัมพูชาลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว ทั้งนี้ SCC ยังเพิ่มเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนในการดำเนินกิจการปูนซีเมนต์ขึ้นเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 40%
นอกจากนี้ยังมี บริษัท Long Son Petrochemical (LSP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในโครงการปิโตรเคมีที่ SCC ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนาม มีส่วนทำให้ SCC ขาดทุนถึง 1.5 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2566 จากการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าประสิทธิภาพและราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูง โดยการขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมเครื่องแครกเกอร์ต้นน้ำ (Upstream Cracker) ที่ SCC เพิ่งเสร็จสิ้นงานด้านกลไกในเดือนตุลาคมนี้ โดยเตรียมทดสอบเดินเครื่องในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม โดยคาดการณ์ว่าเครื่องดังกล่าวจะเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1 ปี 2567
ส่วนความต้องการสารเคมีในตลาดโลกยังชะลอตัวในไตรมาส 4 ปี 2566 ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันและอุปทานส่วนเกิน แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนอาจจะช่วยชดเชยผลกระทบเหล่านั้นได้บ้าง แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าส่วนต่างราคาสารเคมีจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2567 และปีต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิ (Debt/Equity: D/E) ของ SCC อยู่ที่ 0.6 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (Debt/Ebitda) โดยย้อนหลัง 12 เดือน อยู่ที่ 5.2 เท่า ในขณะที่มีการใช้ทุน (Capital Expenditure: Capex) อยู่ที่ 2.74 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากงบลงทุนทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาทในปี 2566
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถทนต่อความผันผวนของตลาดได้จากกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจากการใช้ทุนที่ลดลงหลังจากเครื่องจักรของ LSP เสร็จสมบูรณ์ ประกอบกับแผนของ SCC ที่จะนำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียน