พาราสาวะถี

บรรดาผู้คร่ำหวอดต่อการทำสงครามข่าวสาร และการใช้กลไกของรัฐในการเป็นเครื่องมือเพื่อก่อประโยชน์ให้กับรัฐบาลภายในพรรคเพื่อไทย


บอกไปก่อนหน้านั้นแล้วว่า นอกเหนือจากการใช้ช่องทางทางการทูตปกติในการประสานอิสราเอล และประเทศต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันที่ฉนวนกาซาแล้ว อีกด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประสานให้ ไซยิด สุไลมาน ฮุไซนี ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์แห่งประเทศไทย พูดคุยกับทางการอิหร่านเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากับตัวแทนของฮามาสในการที่จะรับทราบชะตากรรมของตัวประกันชาวไทย และขอร้องให้มีการปล่อยตัว

หลังจากที่มีการเปิดทางแล้ว วันนอร์ได้ส่งคณะทำงานเจรจาเดินทางไปกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อเจรจากับผู้แทนฮามาส ประจำกรุงเตหะราน โดยคณะทำงานดังกล่าวประกอบไปด้วย อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาสภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วย สัยยิดมุมิน ศักดิ์กิตติชา และ เลอพงษ์ ซาร์ยีด อาจารย์ภาควิชาอิสลามการเมือง มหาวิทยาลัยนานาชาติอัลมุศฏอฟา และนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศ

เมื่อสองวันก่อน ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์แห่งประเทศไทยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งความคืบหน้าของการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกันว่า “ชื่อแรงงานไทยที่ฮามาสควบคุมตัวผมได้รับครบหมดแล้ว 22 คน และได้ส่งต่อให้คณะเจรจาเรียบร้อยแล้วครับ รอการตรวจสอบ” ขณะที่เลอพงษ์ก็ยืนยันว่า ตัวประกันทุกชาติโดยเฉพาะคนไทยอยู่ในความดูแลที่ดีมีทั้งอาหารและแพทย์คอยดูแล ผู้แทนฮามาสยืนยันถ้ามีการหยุดยิงสักระยะหนึ่งหรือมีช่องทางที่ปลอดภัย มีโอกาสที่จะปล่อยตัวประกันชาวไทยร้อยเปอร์เซ็นต์

ล่าสุด อารีเพ็ญได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ฮามาสจะปล่อยตัวประกันคนไทยทั้งหมดผ่านช่องทางประเทศอิหร่าน แต่ยังไม่บอกเวลา ซึ่งไม่น่าจะนานเกินรอ ถ้าถอดรหัสจากคำบอกเล่าคงชัดเจนแล้วว่าวันไหน เพราะวันนอร์จะบินไปรับคนไทยเหล่านั้นด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์แห่งประเทศไทย ได้ย้ำผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกรอบว่า “หยุดถามเรื่องแรงงานไทยที่ฮามาสดูแลอยู่ การเจรจาจบแล้วได้ข้อยุติแล้ว” ที่ต้องถามคือแรงงานไทยนับหมื่นคนที่อยู่ในมืออิสราเอลทำไมอิสราเอลถึงยื้อไว้ทุกวิถีทางให้อยู่ในอิสราเอลให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ รัฐบาลไทยต้องหาคำตอบ ก่อนที่จะโพสต์ด่วนตามมาว่า “รีบขนแรงงานไทยกลับเถิดครับท่านนายกฯ ก่อนที่จะสายเกินแก้”

เนื่องจากทางการอิสราเอลได้ปฏิเสธมติของสหประชาชาติที่ให้หยุดยิงในฉนวนกาซาทันที พร้อมประณามทุกชาติ 120 เสียงที่สนับสนุนมติดังกล่าวซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้เยเมนประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ก่อนจะประเดิมถล่มอิสราเอลด้วยขีปนาวุธครูสและโดรน นั่นหมายความว่า สถานการณ์ที่รัฐบาลประเมินว่าจะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ เป็นไปตามนั้น อยู่ที่ว่าแรงงานไทยที่ยังลังเลไม่ยอมตัดสินใจจะเลือกหนทางแบบไหน

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเศรษฐาจึงเร่งคลอดมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้แรงงานไทยได้รีบตัดสินใจ ก่อนที่จะไม่สามารถช่วยเหลือกลับประเทศได้ ถึงขนาดที่ว่า ช่วงเย็นวันอังคารหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.แล้ว เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางกลับเข้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมเรียก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง และ จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เข้าพบเป็นการส่วนตัว  

แม้จะไม่มีการเปิดเผยว่าเศรษฐาเรียกสองรัฐมนตรีช่วยมาหารือเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แต่ฟังจากที่จักรพงษ์คุยกับนักข่าวแล้ว มีการเล่าเหตุการณ์และมาตรการการช่วยเหลือแรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอล ถึงสถานการณ์ขณะนี้ หากรีบกลับมาจะเป็นการดีที่สุด เพราะหลังจากนี้หากมีการปฏิบัติการที่เข้มข้นขึ้นอาจจะเดินทางกลับยาก แสดงถึงความร้อนใจและต้องเร่งทำความเข้าใจ และขอคำตอบจากแรงงานไทยในอิสราเอลโดยเร็ว เนื่องจากสัญญาณที่ได้รับมาจากคณะเจรจาความรุนแรงกำลังจะระอุในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

สำหรับความมั่นใจของคณะทำงานเจรจาที่วันนอร์ส่งไปพูดคุยเรื่องตัวประกันคนไทยที่อิหร่านนั้น น่าจะเกิดมาจากการพบปะหารือ ไม่ใช่เป็นตัวแทนระดับทั่วไป แต่เป็นผู้แทนฮามาสระดับแกนนำที่ประกอบไปด้วย อยาตุลลอฮ์ อัคตารี ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและประธานสมัชชาองค์การปาเลสไตน์แห่งสำนักประธานาธิบดีอิหร่าน ด็อกเตอร์ระมี ฮียาน เลขาธิการใหญ่องค์การช่วยเหลือประชาชาติปาเลสไตน์แห่งชาติ และด็อกเตอร์รู วัยรอน ประธานสมาพันธ์พิทักษ์เยาวชนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลแห่งชาติ เงื่อนไขสำคัญเวลานี้จึงอยู่ที่สถานการณ์ภายในฉนวนกาซา ปลอดภัยในการที่จะปล่อยแรงงานไทยเหล่านั้นหรือไม่

ส่วนเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ กับความเคลื่อนไหวพรรคก้าวไกลเตรียมล่ารายชื่อประชาชนเสนอร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.นั้น ซีกรัฐบาลยืนยันชัดเจนจากปากของเศรษฐา “ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจและไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ แม้แต่น้อย” อย่าไปพูดเรื่องวาทกรรม เรื่องอื่นก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้น ๆ ไป ให้เขาเข้าไปเข็นเข้าสู่สภาเองก็แล้วกัน เป็นการตัดบทแบบไม่แยแสแต่อย่างใด

ทั้งที่เรื่องนี้แม้แต่ อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาลก็เห็นด้วยกับการให้ยุบ กอ.รมน. แต่คงไม่ใช่เพราะเศรษฐาจะเอาใจกองทัพ เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ในเพื่อไทยที่มองเห็นว่า กอ.รมน.ถือเป็นหน่วยงานหนึ่ง ในการบูรณาการกับส่วนราชการอื่น เพื่อผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล โดย สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกลาโหม ถึงกับบอกว่า การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ หากสั่งผ่าน กอ.รมน.จะเวิร์ก ส่วนประเด็นที่ว่าทำงานซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่น อยู่ที่ผู้บริหารประเทศจะใช้งาน ถ้าเลือกใช้ไม่เป็นจะซ้ำซ้อน

ตรงนี้พอเข้าใจได้ บรรดาผู้คร่ำหวอดต่อการทำสงครามข่าวสาร และการใช้กลไกของรัฐในการเป็นเครื่องมือเพื่อก่อประโยชน์ให้กับรัฐบาลภายในพรรคเพื่อไทย คงหวังผลต่อการใช้ กอ.รมน.เพื่อภารกิจในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า ตามที่บิ๊กทินว่าที่ผ่านมาอาจถูกมองเรื่องการทำไอโอหนักแต่เป็นไปในทางด้อยค่า สร้างความขัดแย้ง หากรัฐบาลเปลี่ยนแนวทางมาใช้เชิงสร้างสรรค์ ย่อมไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อกองทัพ และสร้างผลดีกับรัฐบาลอีกต่างหาก

Back to top button