สรท. ชี้ “ส่งออกไทย” ติดลบ 1.5% จับตาปี 67 ฟื้นตัว
สรท. ชี้ส่งออกไทยทั้งปีติดลบอยู่แค่ -1% ไม่เกิน 1.5% หลังแนวโน้มส่งออกกลับมาเป็นบวกต่อเนื่อง รับคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง จับตาปี 67 คาดกลับมาฟื้นตัวราว 0-2%
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก มั่นใจยอดส่งออกในปี 66 จะหดตัวไม่มาก หลังแนวโน้มการส่งออกกลับมาเป็นบวก 2 เดือนต่อเนื่อง และจากการสอบถามผู้ส่งออก ทำให้ทราบว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 66) โดย ทิศทางการส่งออกปีนี้ มั่นใจว่าคงไม่ติดลบไปมาก น่าจะอยู่แค่ -1% ไม่เกิน 1.5%
ส่วนข้อกังวลเรื่องสงครามในตะวันออกกลางนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก เพราะยังอยู่ในวงจำกัดทั้งพื้นที่และคู่ขัดแย้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน แม้จะมีความผันผวน แต่อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออกที่ระดับ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์
โดยหากการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 23,800 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกปีนี้หดตัว -1% แต่หากเฉลี่ยเดือนละ 23,300 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกหดตัว -1.5% แต่มูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนคงไม่ลดลงมากจนเหลือ 22,800 ล้านดอลลาร์ที่จะทำให้การส่งออกปีนี้หดตัวไปถึง 2% เนื่องจากสินค้าบางตัวยังขยายตัวได้ดี เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร โดยคาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 7%
ทั้งนี้คงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ระดับไม่เกิน -1.5% (ณ เดือนพ.ย.66) โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ 1.อัตราดอกเบี้ยโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ 2.ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัว 3.ต้นทุนวัตถุดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และภาวะสงครามที่อาจส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่ง เป็นต้น
ขณะที่ประเมินการส่งออกไทยในปี 67 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นบวก แต่ไม่มาก ราว 0-2% โดยเดือน ธ.ค.66 จะประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง รวมถึงการส่งออกจะเริ่มกลับมาขยายตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน ส.ค.66 เรื่อยไป แต่ปีหน้า คงขยายตัวไม่มากราว 0-2% แต่ส่วนตัวคิดว่าดีกว่านั้น เพราะเห็นวิกฤตในโอกาส
ทั้งนี้ หากดูทิศทาง PMI แล้วจะพบว่ายังอยู่ในระดับทรงตัว ไม่ได้ลดต่ำลงจาก 6 เดือนที่ผ่านมา แสดงว่าผู้ประกอบการยังสามารถประคับประคองตัวไปได้ ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ไม่ได้พุ่งสูง ซึ่งผู้ประกอบการยังสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนปัญหาค่าระวางเรือหมดไป ยังไม่มีสัญญาณการส่งออกชะลอตัวหรือหยุดชะงัก อีกทั้งไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้ส่งสินค้า
อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยลบยังคงเดิม ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว, ต้นทุนวัตถุดิบ, ราคาพลังงาน, อัตราดอกเบี้ย, เอลนีโญ ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้ แต่ต้องเร่งหาตลาดใหม่เพิ่มเติม