สรุปการซื้อ-ขายรายกลุ่มวันนี้

สรุปการซื้อ-ขายรายกลุ่มประจำวันที่ 24 ธ.ค.58


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.31 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.85 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0962 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0915 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,284.32 จุด เพิ่มขึ้น 9.82 จุด หรือ 0.77% มูลค่าการซื้อขาย 33,772.51 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,617.93 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 ตุลาคม 2558 มีจำนวน 5,867,372.68 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.80 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นสุทธิ 84,049.49 ล้านบาท

แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5,514,659.31 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.99 และหนี้ต่างประเทศ 352,713.37 ล้านบาท (ราว 10,106.44 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.01 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 158,293.93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 30 ตุลาคม 2558) หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.38 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ

– นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการ สบน.เผยความคืบหน้าการเบิกจ่ายวงเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ในโครงการน้ำและถนน วงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาทว่า มีแนวโน้มที่ดีมาก โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน ธ.ค.58 นี้ จะสามารถเบิกจ่ายได้ 3.8 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3-3.5 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปี และอาจช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปีนี้เติบโตได้ถึง 3% และยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าด้วย

ส่วนความคืบหน้าในการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ที่เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 19 ต.ค.58-29 ก.พ.59 นั้น พบว่ายอดการจำหน่าย ณ วันที่ 18 ธ.ค.58 อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 86% ของวงเงินที่จำหน่าย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี โดยระยะเวลาการจำหน่ายที่กำหนดไว้ค่อนข้างนานนั้น เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักเพื่อรองรับรายย่อยมากกว่า และไม่ได้เปิดจำหน่ายให้รายใหญ่แต่อย่างใด

– ข้อมูลเบื้องต้นจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ลดลง 5.5% เมื่อเทียบรายปีในเดือน พ.ย.ซึ่งปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน เนื่องจากภาคอิเล็กทรอนิกส์และภาคการขนส่งทางทะเลยังคงหดตัว โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.ลดลงจากตัวเลขเดือน ต.ค.ที่หดตัวลง 4.7% และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะปรับลง 3.6%

– สำนักงานสถิติแห่งเวียดนาม เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยายตัวเพียง 0.6% ในเดือน ธ.ค.เทียบรายปี เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัว 1.84% โดยดัชนี CPI เดือน ธ.ค.ขยายตัวในอัตราช้าที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงและสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งทางรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 5%

– นายฮารูฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมาเป็นเวลานานหลายปี และจะทำทุกทางเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2%

– ธนาคารกลางเกาหลีใต้(BOK) เผยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเกาหลีใต้ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(CCSI) ปรับตัวลดลง 3 จุดจากเดือนก่อนหน้า แตะ 103 ในเดือน ธ.ค.ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

– ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ประกาศลดจำนวนการประชุมเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 12 ครั้งต่อปี เหลือ 8 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนโยบายทางการเงิน โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินจะเข้าประชุมกันเพียงปีละ 4 ครั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก โดยปีหน้าจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อไปเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

– ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ อันเนื่องมาจากแรงเทขายของนักลงทุน ตามทิศทางพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเมื่อคืนนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 341 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.275% ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.005% จากระดับปิดเมื่อวันอังคาร ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน มี.ค.ลดลง 0.05 จุด แตะ 148.92 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button