พาราสาวะถี

รับรู้ข้อมูลกันชัดเจนไปแล้วสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวด้วยตัวเอง


รับรู้ข้อมูลกันชัดเจนไปแล้วสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวด้วยตัวเอง สรุปสาระสำคัญคือ เติมเงิน 1 หมื่นบาทเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ภายใต้เงื่อนไขว่า มีเงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่นบาท มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท นั่นหมายความว่า สำหรับคนที่เงินเดือนไม่ถึง 7 หมื่นแต่มีเงินฝากเกินกว่า 5 แสนก็อดรับเงินไป ส่วนรัศมีการใช้ก็ปรับเป็นภายในเขตอำเภอที่มีชื่อตามบัตรประชาชน

ไฮไลต์ของเรื่องที่เป็นที่มาของเสียงวิจารณ์กันอย่างหนักโดยเฉพาะในโลกโซเซียลคงเป็นที่มาของงบประมาณในการดำเนินการ รัฐบาลจะออกเป็นพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และใช้งบประมาณปกติ 1 แสนล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิอยู่ที่ 50 ล้านคน แน่นอนว่า ที่เป็นประเด็นถูกนำไปขยายความผ่านโลกออนไลน์กันสนุกปากคือ ไหนเคยว่ารัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจเอาแต่กู้ ทำไมพอตัวเองมาเป็นรัฐบาลก็ใช้วิธีกู้เหมือนกัน

ขณะที่คนของฝ่ายค้านอย่าง ศิริกัญญา ตันสกุล ที่เคยถูกวางตัวให้เป็นขุนคลังของรัฐบาลอกหัก ก็ชี้ว่าการเลือกทำอย่างนี้เท่ากับเป็นการหาทางถอย เดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะการจะกู้เงินโดยออกเป็น พ.ร.บ.นั้นส่อว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้เนื่องจากมีคณะกรรมการพิจารณาจึงไม่น่าจะตกม้าตาย ซึ่งก่อนที่จะออกเป็น พ.ร.บ.นั้นจะต้องมีการส่งให้กฤษฎีกาตรวจสอบเสียก่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นผู้เสนอข้อสรุปไปให้พิจารณา กรณีนี้ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯบอกว่า ยังไม่รู้เมื่อไหร่แต่จะทำให้เร็วที่สุด

ทว่าเมื่อมีการขยับแล้ว อย่าลืมซีกของ ป.ป.ช.ก็มีการตั้งคณะกรรมการศึกษานโยบายนี้ของรัฐบาลไว้แล้ว ดังนั้น จึงจะมีการขอรายละเอียดที่เศรษฐาได้แถลงไปทั้งหมด ทั้งขั้นตอน ใช้วิธีการอะไรอย่างไร ที่สำคัญคือ แหล่งที่มาของเงิน ซึ่ง นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า อาจจะต้องขอข้อมูลและรายละเอียดจากรัฐบาล หรือกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าภาพมาประกอบด้วย โดย ป.ป.ช.มีอำนาจตามกฎหมายในการขอข้อมูลและรายละเอียดมาดูได้หากมีความสงสัย ขยับกันทันทีทันใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ถูกมองว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้น หากเป็นก่อนหน้าจะมีรัฐบาลสืบทอดอำนาจอาจเสี่ยงสูง แต่ปัจจุบันอย่าลืมว่า มีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง และช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดหลักการให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้

ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและจ่ายเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”

วรรคสองบัญญัติว่า “กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น” และวรรคสาม บัญญัติว่า “เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

เหตุที่รัฐบาลเศรษฐาต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินเพราะไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ ส่วนรูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด

เนื่องจากในมาตรา 53 กำหนดเพียงว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ ไม่เข้าเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมีปัญหาจำเป็นต้องกระตุ้นอย่างเร่งด่วน รัฐบาลจึงเลือกใช้นโยบายนี้ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เห็นตามที่มือกฎหมายของเพื่อไทยมองกันหรือไม่ 

ส่วนประเด็นที่อ้างว่าการออกเป็นพระราชบัญญัติแทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนด เพราะรัฐบาลมีเจตนาที่จะให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินนี้ ได้ผ่านการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามกลไกของรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ระยะเวลา และแผนงานหรือโครงการอีกครั้ง อันเป็นกระบวนการตรวจสอบตามครรลองของประชาธิปไตย เห็นท่าทีของฝ่ายค้านทั้งก้าวไกลและประชาธิปัตย์แล้วบอกได้เลยว่า ดุเดือดแน่นอน

หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องชี้แจง และตอบคำถามที่มีคนกังขา ทั้งนี้ เหตุที่ทำให้เศรษฐาเชื่อมั่นในการแถลง และพร้อมเดินหน้า เพราะได้รับเสียงหนุนจากภาคเอกชนและกลุ่มอีลิทผู้ทรงอิทธิพลในบ้านเมือง จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ส่วนเสียงครหา กระแนะกระแหนเป็นสิ่งที่ต้องก้มหน้ารับ เหมือนที่เศรษฐาก็รู้อยู่แล้วว่า กรณีที่มีการแถลงผลงานรอบ 60 วัน เป็นเพียงการแอ็กชันเพราะผลในเชิงรูปธรรมยังสัมผัสจับต้องอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้ขายฝัน สร้างความหวัง บนความหวังว่าจะทำได้

Back to top button