สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 พ.ย.2566
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 พ.ย.2566
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (10 พ.ย.66) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเติบโตที่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐทรงตัวหลังพุ่งขึ้นอย่างมากในวันพฤหัสบดี ขณะที่บรรดานักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจอื่น ๆ ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,283.10 จุด เพิ่มขึ้น 391.16 จุด หรือ +1.15%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,415.24 จุด เพิ่มขึ้น 67.89 จุด หรือ +1.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,798.11 จุด เพิ่มขึ้น 276.66 จุด หรือ +2.05%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (10 พ.ย.66) โดยถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น หลังจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อนั้นได้ทำลายความหวังของนักลงทุนที่ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจแตะระดับสูงสุดแล้ว นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อตลาดด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 443.31 จุด ลดลง 4.49 จุด หรือ -1.00%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,045.04 จุด ลดลง 68.62 จุด หรือ -0.96%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,234.39 จุด ลดลง 118.15 จุด หรือ -0.77% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,360.55 จุด ลดลง 95.12 จุด หรือ -1.28%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันศุกร์ (10 พ.ย.66) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษไม่มีการขยายตัวในไตรมาส 3 นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนส่งผลกดดันตลาดด้วย
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,360.55 จุด ลดลง 95.12 จุด หรือ -1.28% และปรับตัวลง 0.8% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (10 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่อิรักสนับสนุนให้กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีกก่อนการประชุมในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า และนักเก็งกำไรได้เข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบเพื่อชดเชยการทำชอร์ตเซลล์ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงติดลบในรอบสัปดาห์นี้จากการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำมันส่วนเกินซึ่งได้บดบังความเสี่ยงด้านอุปทานที่อาจจะเกิดจากการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 77.17 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ร่วงลงเกือบ 4.2% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 1.42 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 81.43 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ร่วงลง 4.1% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (10 พ.ย.66) โดยถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 32.10 ดอลลาร์ หรือ 1.63% ปิดที่ 1,937.70 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 2.86% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 62.40 เซนต์ หรือ 2.72% ปิดที่ 22.281 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ร่วงลง 17.20 ดอลลาร์ หรือ 1.99% ปิดที่ 845.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 30.30 ดอลลาร์ หรือ 3.0% ปิดที่ 978.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (10 พ.ย.) หลังจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในเดือนพ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.04% แตะที่ 105.8624
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร, ฟรังก์สวิส และดอลลาร์แคนาดา แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเยน, ปอนด์และโครนาสวีเดน
ดอลลาร์อ่อนค่าแตะ 0.9027 ฟรังก์สวิสในวันศุกร์ (10 พ.ย.) จาก 0.9035 ฟรังก์สวิสในวันพฤหัสบดี (9 พ.ย.) และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 1.3810 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3812 ดอลลาร์แคนาดา
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะ 151.5840 เยนในวันศุกร์ (10 พ.ย.) จากระดับ 151.3100 เยนในวันพฤหัสบดี และดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะ 10.9151 โครนาสวีเดน จากระดับ 10.9132 โครนาสวีเดน
ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0679 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ (10 พ.ย.) จากระดับ 1.0668 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันพฤหัสบดี (9 พ.ย.) ขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2217 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.2221 ดอลลาร์สหรัฐ