พาราสาวะถี

เวลานี้ เศรษฐา ทวีสิน พร้อมคณะอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ครั้งที่ 30


เวลานี้ เศรษฐา ทวีสิน พร้อมคณะอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดขึ้นที่ นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตีปี๊บกันตั้งแต่ก่อนเดินทาง รัฐบาลคาดหวังผลลัพธ์จากเวทีนี้ ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมประชุม แต่ผลพลอยได้ในการมีโอกาสพบปะกับผู้นำประเทศต่าง ๆ และภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หวังว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินมาลงทุนในประเทศไทยได้

เมื่อประกาศตัวเป็นเซลส์แมนของประเทศ นอกเหนือจากการหารือทางการทูตที่เป็นทางการแล้ว เศรษฐาก็จะทำหน้าที่นำเสนอแผนงานการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนต่างประเทศ จะมากจะน้อยอย่างน้อยก็ได้โชว์ฝีมือ ต้องยอมรับความจริงกันว่า กว่า 9 ปีที่ผ่านมา บทบาทของผู้นำประเทศด้านการต่างประเทศนั้นถดถอยไปเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะภาษาอังกฤษดี แต่ความมีวิสัยทัศน์ และศักยภาพในการบริหาร ย่อมสามารถที่จะพูดจาภาษาเดียวกันกับผู้นำประเทศและภาคธุรกิจของนานาประเทศได้เป็นอย่างดี

ส่วนกรณีเสียงวิจารณ์ที่ดังกระหึ่มต่อการแถลงความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนเห็นต่าง ที่มีทั้งแสดงความเห็นสารพัด รวมไปถึงการยื่นร้ององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าสิ่งที่เศรษฐาแถลงไปนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายใดหรือไม่ ประเด็นนี้ตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีความหวั่นไหว เพราะคาดกันไว้อยู่แล้ว เรื่องยื่นตีความโดยเฉพาะผ่านช่องทางศาลรัฐธรรมนูญยิ่งดี จะได้รู้กันไปให้ชัดแจ้ง การเตรียมออก พ.ร.บ.กู้เงินขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับเรื่องที่มีการทักท้วงการเดินหน้าโครงการโดยออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน น่าจะขัดต่อแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้ยื่นต่อ กกต.ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการระบุว่าจะใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการ เรื่องนี้ พิชิต ชื่นบาน นักกฎหมายของพรรคและที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายกฎหมายให้ความเห็นว่า เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยมีการชี้แจง กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2660 มาตรา 57 พรรคได้มีการระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่า “ที่มาของวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ”

ดังนั้น วันนี้เมื่อรัฐบาลได้หาข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่าในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องมีการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 1 แสนล้านบาท จึงเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศตามที่ได้แจ้งต่อ กกต.แล้ว ส่วนใครจะยื่นร้องก็ถือเป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้

ความจริงแล้วการเลือกใช้วิธีนี้ ถือว่าเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจ และต้องการให้ทุกอย่างโปร่งใส จึงจะเห็นได้ว่า ศิริกัญญา  ตันสกุล ว่าที่ขุนคลังของพรรคก้าวไกล ไม่กล้าที่จะรับคำท้าของ อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาลที่ว่า หากดิจิทัลวอลเล็ตสามารถเดินหน้าไปได้ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลจะต้องทำตามเงื่อนไข 4 ข้อ นั่นเป็นเพราะเมื่อรัฐบาลออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ทุกอย่างต้องไปว่ากันในสภา ทั้ง สส.และ สว.สามารถโต้แย้ง คัดค้านได้เต็มที่ แต่สุดท้ายมติที่ประชุมส่วนใหญ่ว่ายังไงก็ต้องยึดตามนั้น

นี่จึงเป็นหนทางที่แม้จะถูกปรามาสว่าเป็นเหมือนการวางทางถอยของเศรษฐาและเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล ถ้าไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ก็ถือว่าได้ทำแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะเมื่อเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เสียงที่จะโหวตต้องออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จะมี สส.ของพรรคใดพรรคหนึ่งอ้างสิทธิส่วนบุคคลไม่ได้

กรณีนี้ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยุครัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เวลานี้กลับมานั่งเก้าอี้กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ยังได้แสดงความเห็นด้วย ถือเป็นเรื่องที่เดินมาถูกทางและเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อนายกฯ ตัดสินใจใช้ พ.ร.บ.ถือเป็นทางเลือกที่ดี หลังจากที่มีการยื่นเรื่องเข้าสภาฯ เรียบร้อย การดำเนินงานเช่นนี้ “จะปกป้องตัวรัฐบาลเอง” ซึ่งคิดว่า “เป็นทางที่ใช่ เพียงแต่ว่าอาจต้องอดทนเล็กน้อย”

ในฐานะคนที่เคยผ่านงานฝ่ายบริหารประเทศมาแล้ว และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกของระบบรัฐสภา ย่อมเข้าใจ และมองเห็นความโปร่งใสจากการใช้กระบวนการดังกล่าว จากที่ก่อนหน้านั้น อาจดูเหมือนรัฐบาลเจอทางตันในแง่ของแหล่งที่มางบประมาณ จึงมีการพูดถึงการกู้เงินจากธนาคารมาดำเนินการ จนเกิดเป็นเสียงวิจารณ์ดักคออย่างหนักหน่วง กล่าวหาว่ารัฐบาลจะใช้เงินจำนวนมากโดยที่ไม่ผ่านความเห็นจากสภาฯ และไม่มีการขออนุญาต รวมถึงจะเอาอำนาจใดมาใช้ พอออกมาแนวทางนี้ย่อมเป็นเหตุเป็นผล

ขณะเดียวกัน เรื่องเงื่อนไขของโครงการแน่นอนว่า เมื่อมีการนำร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ย่อมเป็นจังหวะของการทักท้วง เสนอแนะ และหาทางออกร่วมกัน จึงอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อีก เหมือนที่กอบศักดิ์ว่า “ยังมีเวลา” เดี๋ยวต้องทบทวน และตัดสินใจอีกครั้งในตอนที่นำเรื่องนี้เข้าสภา เพราะจะต้องมีการตัดสินใจร่วมกันว่าตัวเลขงบประมาณที่จะใช้อยู่ที่เท่าไหร่ ประมาณไหน แต่อย่างน้อยได้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลยอมถอยนโยบายจากเดิมที่บอกว่าแจกเงินทุกคน เหลือเพียงแจก 50 ล้านคน

อย่างที่บอกว่า สิ่งหนึ่งนอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยที่คอยเป็นแบ็คอัพสำคัญของเศรษฐาในการเดินหน้าทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแล้ว เสียงหนุนจากกลุ่มอีลิทที่อยากเห็นการนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าก็สำคัญ เพราะมองเห็นศักยภาพในตัวผู้นำประเทศ เหมือนที่กอบศักดิ์การันตีว่า คิดว่านายกฯ ทำเรื่องธุรกิจดี เพราะมีความเข้าใจเรื่องธุรกิจ สามารถทำให้เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้าได้ เช่น ฟรีวีซ่าเอกชนขอมานานแล้วก็ผลักดันจนสำเร็จ การลดค่าไฟ ค่าน้ำมันก็ทำได้ รวมถึงการเดินทางไปเจรจาต่างประเทศเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจ นี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมแค่สองเดือนหลังเป็นนายกฯ เศรษฐาจึงเดินทางถี่ยิบ

Back to top button