ตลท.ยัน! ไร้ “ชอร์ตเซล” ผิดกฎหมาย “โปรแกรมเทรดดิ้ง” ไม่กระทบตลาดหุ้น

ตลท.ยืนยันไม่มีโรบอร์ต-ชอร์ตเซลผิดกฎหมาย เป็นเพียงออเดอร์จากนักลงทุน 1 ราย พร้อมหนุนนักลงทุนรายย่อยใช้โปรแกรมเทรดดิ้งมากขึ้น มั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย พร้อมเปิดสายด่วนหากได้รับความเสียหาย


นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทาง Social Media ในหัวข้อ “หลักฐานมัดแน่น Bot ใช้ Short หุ้นทุบราคาหุ้น??” อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับ Naked Short ช่วงเดือน ก.ค. 66 ที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นแค่ Order ใหญ่ รวมทั้งยืนยันไม่พบการทำ Short Sale ที่ผิดกฎหมาย

โดยชี้แจงว่า การซื้อขายรายการดังกล่าว ไม่มีความผิดปกติของราคาซื้อขายหุ้น การสั่งคำสั่งซื้อขาย ไม่ผิดปกติ ไม่มีการทำชอร์ตเซล ดังนี้

อนึ่งก่อนหน้านี้ จากข้อมูลรายการซื้อขายตามข่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 (ประมาณ 10:30 น.) โดยใช้เวลาในการส่งทั้งหมดประมาณ 2 นาที รวม 6 ออเดอร์ จำนวนประมาณ 30 ล้านหุ้น

ส่วนการเฝ้าระวังพฤติกรรม “real time” ในวันตั้งกล่าวและพบข้อเท็จจริง ประเมินว่าคำสั่งขายจำนวนมาก ไม่ได้ส่งจากโปรแกรมจากต่างประเทศ แต่เป็นคำสั่งขายจากผู้ถือหุ้นในประเทศที่ถือครองหุ้นมากกว่าจำนวนที่ตั้งคำสั่งขาย จึงไม่ใช่การ short sale และคำสั่งขายจำนวนมากดังกล่าว ไม่เกิดการจับคู่ และไม่กระทบราคาหุ้นในช่วงเวลาที่วางคำสั่งไว้ ซึ่งภายใน 20 นาทีหลังจากนั้น มีการถอนคำสั่งขายทั้งหมดแล้วไม่ใส่กลับมาอีกเลยตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้างการกำกับดูแล โดยองค์ประกอบคณะกรรมการ ตลท. (ตาม พรบ. หลักทรัพย์ฯ) กำหนดให้มาจาก 2 กลุ่ม คือ 1) บุคคลที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวน 6 คน 2) บุคดลที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกจำนวน 4 คน (แก้ไขให้ลดจาก 5 คน ตามกฎหมายกำหนดในปี 2562 )

สำหรับประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการ ตลท. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ และนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณกลุ่ม ตลท. Corporate Governance Policy หรือนโยบายการกำกับดูแลกิจการ โดยกรรมการฯ ผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาผลประโยชน์ทับซ้อน (Confict of Intorest) จะต้องแจ้งการมีส่วนได้เสีย และไม่เข้าร่วมการพิจารณาในเรื่องนั้นๆ ส่วนการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ ตลท.ในเรื่อง day to day operation จะดำเนินการโดยฝ่ายจัดการเป็นรายวัน

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบทุกรายการซื้อขาย หากผู้สื่อข่าวหรือนักลงทุนมีข้อสงสัย หรือมีข้อมูลที่ต้องการให้ตรวจสอบ รวมถึงการได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเสียหายจากโปรแกรมเทรดดิ้ง  Algorithm Trading หรือ High Frequency Trading สามารถสอบถามมาได้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ Call Center โทร 02-009-9999 ขออย่าให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เคยที่จะละเลยในการทำงานครั้งนี้ หากแต่ว่าราคาที่ปรับตัวลดลงอย่ามองว่าเป็นปัจจัยที่เกิดจาก Neked Short ซึ่งทั่วโลกก็เกิดปัญหาเหมือนกัน

ดังนั้น ทุกโปรแกรมที่นักลงทุนเข้ามาใช้จะต้องผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ และการกำกับดูแลสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนฝั่งไหน โดยมองว่าโปรแกรมเทรดดิ้งยังคงมีคุณภาพ แต่หากดูปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะพบว่านักลงทุนต่างชาติ ที่เป็นโปรแกรมเทรดดิ้งเข้ามาได้เร็วเสมอ และเข้ามาได้ในจำนวนที่มาก ในขณะที่การจะเพิ่มฐานนักลงทุนในประเทศ หรือนักลงทุนสถาบันในประเทศ อาจต้องใช้เวลา ซึ่งตลท.ก็พยายามส่งเสริมการขยายฐานนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

จากกรณีที่ปริมาณการซื้อขายเทรดของตลาดหุ้นไทยเป็นโปรแกรมเทรดอัตโนมัติสูงถึงราว 40% แต่ปริมาณการซื้อขายรวมกลับลดลง เทียบกับที่โปรแกรมเทรดยังอยู่ในระดับต่ำ การมีบทบาทที่มากขึ้นของโปรแกรมเทรด ทำให้กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยหายไปหรือไม่นั้น นายภากร กล่าวว่า ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้สัดส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความกระจาย เช่น นักลงทุนรายย่อยในประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3, นักลงทุนต่างประเทศ 1 ใน 3 และบล.ในประเทศ นักลงทุนสถาบัน คิดเป็น 1 ใน 3

ทั้งนี้ เตรียมรวบรวมข้อมูลที่จะเปิดเผยในอนาคตมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างคัดกรองข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นแบบรายวัน รายอาทิตย์ รวมถึงจะมีการพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนเข้ากับสถานการณ์ตามภาวะเศรษฐกิจ เพื่อที่จะทำให้สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยเพิ่มมากขึ้น

ส่วนในกรณีของนายกรัฐมนตรีปรับโครงสร้างบอร์ด ตลท.นั้น นายภากร ขอไม่ให้ความเห็น โดยระบุสั้นๆว่า ในฐานะคนทำงาน ทำงานเต็มที่ และที่ผ่านมาได้อธิบายการทำงานของ ตลท. ให้รัฐบาลในการเข้าพบที่ปรึกษานายกฯ

Back to top button