พาราสาวะถี
งานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 วันเสาร์ที่ผ่านมาปาฐกถาพิเศษของ ธนินท์ และ ภูมิธรรม ทำให้เกิดภาพความเชื่อมั่นจากมุมมองของผู้จัดการรัฐบาล
งานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน วันเสาร์ที่ผ่านมาปาฐกถาพิเศษของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดภาพความเชื่อมั่นจากมุมมองของผู้จัดการรัฐบาล และเจ้าสัวใหญ่ของประเทศ เป็นการปูทางให้ เศรษฐา ทวีสิน ที่จะขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “The time to act is now พลิกวิกฤตฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน” ในวันอาทิตย์ ทำงานได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะมีการเตรียมพร้อมมาก่อนแล้วก็ตาม
สิ่งที่เสี่ยอ้วนในฐานะมือประสานสิบทิศของพรรคเพื่อไทย ที่จะว่าไปแล้วก็คือผู้จัดการรัฐบาลได้พูดบนเวทีดังกล่าวนั้นคือ ให้ทุกฝ่ายไว้ใจกระบวนการทำงานของรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ยากลำบาก อันหมายถึงการพลิกขั้วจับมือตั้งรัฐบาล นั่นมันทำให้ทุกอย่างจึงพึ่งพากันได้ ร่วมกันได้ “ขอให้ภาคเอกชนสบายใจได้” โดยที่มีการยืนยันว่าอยากเดินหน้าทำทีมไทยแลนด์และทีมพาณิชย์ให้ประสบความสำเร็จให้ได้และเดินหน้าไปพร้อมกับเอกชน
การการันตีเช่นนี้ ความจริงไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ด้วยสถานการณ์ของประเทศมันเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ยิ่งได้เห็นกระบวนการทำงานของคนที่เป็นผู้นำแล้ว ไม่ได้มานั่งแบ่งแยกว่างานใดเป็นของพรรคไหน ต้องการให้ทุกพรรคร่วมกันขับเคลื่อนให้ผลงานเป็นที่ปรากฏโดยเร็ว เพราะการตั้งโจทย์ว่าต้องทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันก็คือตอกย้ำว่า ปัญหาของประชาชนและประเทศมันหนักหนาสาหัส ต้องช่วยกันทำงานตลอดเวลา
ขณะที่เจ้าสัวธนินท์ได้ให้ความเห็นถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า ตนมีความเชื่อมั่นสูงมากว่าเข้ามาในเวลาที่ถูกต้องแล้ว ที่จะมาแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวนายกฯ ผลงานจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่มากถึงขนาดเป็นที่หนึ่ง ขณะเดียวกัน การเงินการคลังก็บริหารได้อย่างเยี่ยม แนวทางการออกพันธบัตร 4% กว่า แสดงว่าไม่ใช่แค่เป็นนักธุรกิจอสังหาฯ อย่างเดียว แต่ยังเป็นนักบริหารการเงินอย่างยอดเยี่ยมในเหตุการณ์วันนี้ของโลก
สถานการณ์เศรษฐกิจในสายตาของเจ้าสัวนั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจ กับการชี้ให้เห็นว่า วันนี้เศรษฐกิจของโลกมันไม่เหมือนปกติแล้ว โดยชี้ว่าการที่วินัยการเงินมันดีเกินไป ก็จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าโลกกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจของระดับโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ทุกคนเชื่อการเงินอเมริกา พอขึ้นดอกเบี้ยเงินกลับไหลเข้าอเมริกามาก แม้มีหนี้สูงเกิน 100% สูงกว่าจีดีพี คนก็ยังให้ความเชื่อมั่นการเงินของอเมริกา
จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยซึ่งวิกฤตนี่เอง ทำให้เจ้าสัวเห็นด้วยกับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมแสดงความมั่นใจที่มีการออกมาตรการนี้ โดยความเห็นของธนินท์คิดว่าทุกอย่างถูกต้อง วันนี้เศรษฐกิจไม่ปกติ การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ใช้วิธีปกติในการกระตุ้นเพราะมันเป็นวิกฤต ขณะที่รัฐบาลก็ได้วางเงื่อนไขในการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน โดยต้องเข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ใช่ไปช่วยเพื่อคนยากจน แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ได้ทำให้วินัยทางการเงินเสียหาย
อย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่แรกแล้วว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐาและรัฐบาลกล้าที่จะเดินหน้าในโครงการนี้ ไม่ใช่แค่การแสดงความโปร่งใสด้วยการจะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินเท่านั้น หากแต่เป็นเสียงสนับสนุนของชนชั้นอีลิทที่ต้องเข้าใจว่ามีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนงานของประเทศ สิ่งที่เจ้าสัวธนินท์พูดทิ้งท้ายถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ถือเป็นโจทย์เดียวกันกับที่นายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนได้รับมาเหมือนกัน นั่นก็คือ ทุกฝ่ายต้องสามัคคีกัน
กรณีดิจิทัลวอลเล็ตเมื่อเดินหน้าไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องดำเนินนโยบายอื่นควบคู่กันไปด้วย อย่างที่เจ้าสัวธนินท์ว่า รัฐบาลต้องมีแผน 2 ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยที่ตนเชื่อมั่นว่า ถ้าพวกเราสามัคคีกันทั้งนักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง มองประเทศชาติเป็นหลัก เอาตัวเองเป็นที่ 3 เชื่อมั่นว่าประเทศไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ต้องเจริญรุ่งเรืองแน่นอน ได้ฟังสารที่สื่อกันแบบนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ว่าทำไมเศรษฐาถึงตอกย้ำในการเดินหน้า เรื่องเป็นนโยบายหลักของเพื่อไทยแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
การที่ชนชั้นอีลิทต่างพากันสนับสนุนกระบวนการทำงานของรัฐบาล เสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นพวกขาประจำ และพรรคฝ่ายแค้นอย่างก้าวไกลนั้น เป็นเพราะทุกฝ่ายมองเห็นตรงกันว่าสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งกันได้แล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะทะเลาะเบาะแว้ง ความเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนใครที่ยังมะงุมมะงาหรากับแนวคิดและทิศทางการเมืองเหมือนก่อนการยึดอำนาจโดย คสช. ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนจะกลายเป็นพวกด้อยพัฒนาไปทันที
แต่ไม่ได้หมายความว่าความพยายามในการที่จะล้มรัฐบาลนั้นหมดไป ยังคงมีความเคลื่อนไหวกันต่อเนื่อง เพียงแต่เป้าหมายก็จะเปลี่ยนไปตามทิศทางการเมืองจากที่คิดว่าจะล้มกันเป็นรายเดือน หรือก่อนสิ้นปี ตอนนี้ก็ยืดเวลาออกไปเป็นล้มให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งมันสวนทางกับความเชื่อมั่นในตัวของเศรษฐาและรัฐบาล ยิ่งนานวันดูเหมือนว่าเสถียรภาพของนายกฯ จะมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลก็มีความมั่นใจและไว้วางใจกันเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายร่วมคือสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
ส่วนงานการเมืองที่เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อไทยหลังจาก แพทองธาร ชินวัตร เข้ามากุมบังเหียนแล้ว ทำให้สมาชิกและ สส.ทุกคนเป็นปึกแผ่นมากขึ้น การหย่าศึกกับ เฉลิม อยู่บำรุง ถือเป็นภาพที่ทำให้เห็นว่าแม้จะหน้าใหม่แต่ชั้นเชิงและการขับเคลื่อนทางการเมืองนั้นไม่ธรรมดา ส่วนที่ว่ายิ่งมีผลงานมากเท่าไหร่ยิ่งไม่ปลอดภัยต่อเก้าอี้นายกฯ ของเศรษฐา แค่การปั่นของฝ่ายตรงข้าม อุ๊งอิ๊งต้องได้รับการดันให้เป็นผู้นำประเทศแน่ แต่ยังไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้