ก.ล.ต. จี้ “ตลท.” เร่งแก้ปม “ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้ง” หลังให้อำนาจเต็มที่!
ก.ล.ต. จี้ “ตลท.” เร่งแก้ปม “ชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้ง” หลังให้อำนาจเต็มที่! เพื่อป้องกัน-ตรวจสอบธุรกรรม Naked short และให้ความเป็นธรรมกับลูกค้าสถาบัน และไม่ให้เอาเปรียบรายย่อยจากการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง
นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 พ.ย.66) ก.ล.ต. ได้ส่งหนังสือไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการเน้นย้ำ 2 เรื่อง คือ 1.กาทำธุรกรรมการขายชอร์ต (short selling) และ 2. การใช้โปรแกรม Program Trading
สำหรับประเด็นแรกธุรกรรมการขายชอร์ต (short selling) ทางก.ล.ต.พยายามจะชี้ช่องและให้อำนาจทางตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว โดยมีอำนาจเต็มที่ในการทบทวนและพิจารณาในเรื่องของการกำหนด price rule โดยทางตลาดฯจะใช้ Zero up tick rule หรือ uptick rule โดยตลาดฯสามารถเลือกใช้เครื่องมือดังกล่าวได้นานมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาด ซึ่งปัจจุบันตลาดใช้เกณฑ์ Zero tick (ขายช็อตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาดล่าสุด) ซึ่งทางก.ล.ต.ได้ให้อำนาจตลาดฯเต็มที่ว่าจะเลือกใช้เครื่องมือใดตามความเหมาะสม
ส่วนประเด็นที่สองคือ โปรแกรม Program Trading สำหรับการเทรดโปรแกรมเทรดดิ้งการทำธุรกรรมจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถทำกำไรในสเปรดแคบ ๆ ดังนั้นลักษณะสำคัญการเทรดโปรแกรมคือการเทรดวอลุ่มใหญ่ๆถึงจะได้กำไร ดังนั้นจึงมองว่าการทำธุรกรรมเช่นนี้ค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงกับการที่จะมาดั้มตลาด
ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต.จึงแจ้งไปทางตลาดหลักทรัพย์ฯไปให้ช่วยเพิ่มกลไกในการตรวจสอบมากขึ้นคือ กลุ่มลูกค้า custodian หรือ บุคคลอื่นภายนอกโบรกเกอร์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า custodian ในต่างประเทศต้องรู้ว่าเป็นใคร เพื่อป้องกันธุรกรรมไม่ให้เกิดเป็น naked short (การขายช็อตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์) ซึ่งแต่ถ้าทำ naked short โดยที่ไม่บอกใครและไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ price rule ก็จะทำให้ตลาดหุ้นเป็นขาลงได้
อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของโปรแกรมเทรดดิ้งที่เอาเปรียบรายย่อย ซึ่งหากย้อนกลับไปการคิดค่าธรรมเนียม (fee) จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้า ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าสถาบันมีความเสี่ยงต่ำค่าฟีจะถูก แต่ถ้าเป็นกลุ่มรายย่อยมีความเสี่ยงสูงก็เป็นหลักปกติในการคิดก็รับฟังได้ แต่ประเด็นปัญหามันอยู่ที่ว่าการเทรดโปรแกรมเทรดดิ้งของกลุ่มลูกค้าสถาบันที่แฝงตัวมาในรูปแบบกลุ่มสถาบัน
ดังนั้นตรงนี้จึงให้ตลาดฯกลับไปทบทวนว่าการเทรดของโปรแกรมเทรดดิ้งจะทำอย่างไรให้มีความเป็นธรรมกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งตรงนี้ไม่ได้คัดค้านว่าต้นทุนกลุ่มสถาบันจะต้องต่ำกว่ารายย่อย แต่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบระหว่างลูกค้าสถาบันและรายย่อย
อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นในเรื่อง short selling และโปรแกรมเทรดดิ้ง หากตลาดต้องการที่จะแก้ไขข้อบังคับ ทางก.ล.ต.ได้ พร้อมที่จะเสนอบอร์ดและเห็นชอบข้อบังคับที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการจะแก้ไขเพื่อจะให้ใช้อำนาจตามความเหมาะสมต่อไปและพร้อมสนับสนุนเต็มที่
นอกจากนี้เห็นว่าทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเครื่องมือในการตรวจสอบธุรกรรมชอร์ตเซล และเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ ทางก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจสอบระบบที่สามารถป้องกันและตรวจสอบ naked short ที่ไม่ทำตามกฎเกณฑ์ และส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดฯให้ผิดปกติ และหากตรวจสอบพบมีการทำ Naked short จะทำการลงโทษทันที เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่น
ส่วนการใช้ Short sale จะหยุดธุรกรรมนี้หรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับว่าการทำแล้วส่งผลกระทบอย่างไรกับตลาดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาตามสถานการณ์ เพราะหากมองการทำ short selling ก็ถือว่าช่วยสร้างงสภาพคล่องให้ตลาด และหุ้นถูกไปแพงไปกระบวนการ short selling ก็ทำให้ราคาหุ้นมีความสมเหตุสมผล ดังนี้ตอนนี้สิ่งที่กังวลนี้คือการไปทำ short selling แล้วไปทำ Naked short และทำให้ตลาดเป็นขาลงหรือไม่ และระบบการตรวจสอบทางตลาดหลักทรัพย์มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด