“วิจัยกรุงศรี” เล็งหั่น GDP ปี 66 หลัง 9 เดือนโต 1.9%
“วิจัยกรุงศรี” เล็งหั่นประมาณ GDP ปี 66 หลังเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกโตเพียงแค่ 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
วิจัยกรุงศรี ระบุว่า GDP ไตรมาส 3/66 ของประเทศไทยเติบโตต่ำที่ 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเศรษฐกิจทั้งปี 66 มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ในไตรมาส 3/66 ขยายตัวเพียง 1.5% จากปีก่อน จากขยายตัว 1.8% ในไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.4% และวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ 2.0%
ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 เป็นผลจาก 1.การส่งออกสินค้าที่ลดลง 2.การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เนื่องจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 รวมทั้งการหดตัวของรายจ่ายด้านการลงทุน และ 3.การลดลงของสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้ (-220%) ซึ่งนับว่ามีส่วนสำคัญที่ฉุดการเติบโตของ GDP
อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และการลงทุนของภาคเอกชนที่เติบโตเร่งขึ้น
สำหรับภาคการผลิต (Supply side) ผลกระทบจากส่งออกที่อ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 (-4.0%) สาขาเกษตรกรรมขยายตัวชะลอลง (+0.9%) ขณะที่ภาคท่องเที่ยวที่เติบโตช่วยหนุนให้สาขาบริการในส่วนที่พักแรมและร้านอาหารยังเติบโตสูง (+14.9%)
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นขยายตัว 2.5% จากเดิมคาด 2.7% และคาดปี 67 เติบโตได้ 2.7-3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%)
วิจัยกรุงศรี จึงเตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 66 ลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.8% โดยมีปัจจัยลบจาก GDP ไตรมาส 3 เติบโตต่ำกว่าคาด รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย อาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 28.5 ล้านคน ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 22.2 ล้านคน
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น โดยมีผลบวกจากปัจจัย ดังนี้
1.ฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน
2.แรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐ ที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทาง รวมถึงมาตรการพักหนี้เกษตรกร
3.การกระเตื้องขึ้นของภาคส่งออกในช่วงปลายปี
4.การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 ซึ่งยังต้องติดตามพัฒนาการในแต่ละขั้นตอน เพราะจะมีผลต่อความคืบหน้า และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงรายละเอียดของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะแจกให้กับบุคคลที่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และหรือมีเงินฝากในทุกบัญชีรวมไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งจะทำให้เหลือผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้อยู่ที่ 50 ล้านคน
ส่วนที่มาของงบประมาณที่ใช้ในโครงการ จะเป็นการออก พ.ร.บ.เงินกู้ จำนวน 5 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นรัฐบาลประเมินว่าจะเริ่มแจกให้ประชาชนใช้จ่ายได้ตั้งแต่เดือนพ.ย. 67 และสิ้นสุดโครงการเดือนเม.ย. 70 อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิในโครงการนี้หรือมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 70,000 บาท รัฐบาลเตรียมออกโครงการ E-Refund โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าสูงสุดได้ไม่เกิน 50,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะเริ่มในเดือนม.ค. 67
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ผ่านการลงทุนในกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: TESG) โดยกำหนดระยะเวลาลงทุน 8 ปีเต็ม วงเงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาท/ราย คาดจะเริ่มได้ในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ เพื่อสนับสนุนการออมในระยะยาวและช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดทุนไทย
“แม้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีรายละเอียดมากขึ้น แต่ยังต้องรออนุมัติตามกระบวนการการออกพ.ร.บ. เงินกู้จำนวน 5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” วิจัยกรุงศรี กล่าว
ดังนั้น โครงการดังกล่าว ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เริ่มตั้งแต่ 1. การตีความโดยคณะกรรมการกฤษฏีกา 2. นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา (ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วจึงเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ) และ 3. การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ