ดาบแรก…แค่หลอกแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

แถลงการณ์ (โดยไม่ต้องตั้งโต๊ะใหญ่โต เหมือนเรื่องเล็กๆ) ของ ก.ล.ต.วันพฤหัสบดี เป็นสิ่งที่หลายคนรอคอยมานาน ในกรณี ผู้มีอำนาจในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ขัดขวางผู้ถือหุ้นหรือคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามเข้าร่วมการประชุม


แถลงการณ์ (โดยไม่ต้องตั้งโต๊ะใหญ่โต เหมือนเรื่องเล็กๆ) ของ ก.ล.ต.วันพฤหัสบดี เป็นสิ่งที่หลายคนรอคอยมานาน ในกรณี ผู้มีอำนาจในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ขัดขวางผู้ถือหุ้นหรือคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามเข้าร่วมการประชุม

ปรากฏว่า เป้าหดแคบเหลือแค่บุคคลคนเดียวคือ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ในฐานะประธานกรรมการ (ฉุกเฉิน) และประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น NMG ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 29 เมษายนปีนี้

นายณิทธิมน เข้ามารับตำแหน่งกะทันหันในการประชุมนั้น หลังจากคืนก่อนการประชุม นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการคนเดิมได้ลาออกกะทันหัน ไม่มีปี่มีขลุ่ย…ส่วนจะเป็นประธานรับจ้างหรือไม่…ก็ว่ากันไป

ก.ล.ต. ระบุว่า การประชุมวันนั้น นายณิทธิมนในฐานะประธานกรรมการและประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าประชุมและใช้สิทธิออกเสียง และห้ามผู้ถือหุ้นบางรายออกเสียงในการประชุมบางวาระ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 33 มาตรา 102 และมาตรา 105 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

กฎหมาย 2 มาตรานั้น ไม่ได้กำหนดให้ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีอำนาจ ที่จะไม่อนุญาตการเข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม และออกเสียงลงคะแนนในการประชุม ตามคำวินิจฉัยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ตามที่กำหนดในมาตรา 89/7 อันเป็นเหตุให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ถือว่าทำผิดทั้ง กฎหมายมหาชน และกฎหมายหลักทรัพย์ฯพร้อมกันทีเดียว

ก.ล.ต. ระบุว่า เนื่องจากนายณิทธิมนไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบปรับ ก.ล.ต.จึงได้กล่าวโทษนายณิทธิมนต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ของกรมสืบสวนพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป…เพราะอำนาจของ ก.ล.ต. มีแค่นี้เอง ไม่ยอมเสียค่าปรับ ก็ต้องส่งเรื่องต่อ…

ผลของข้อกล่าวโทษดังกล่าว ทำให้นายณิทธิมนขาดคุณสมบัติเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ซึ่งนายณิทธิมนก็รู้ตัว ชิงลาออกไปตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2558 ก่อน ก.ล.ต.แถลง 3 วัน พร้อมกับให้สัมภาษณ์สื่อเครือ NMG ว่า ไม่ยอมรับคำกล่าวโทษ และขอไปต่อสู้ในชั้นศาล เพื่อพิสูจน์เจตนา

เรียกได้ว่า งานนี้…ลากยาวแน่นอน…เพราะกรณีนี้ ยังไม่จบง่าย เนื่องจาก ก.ล.ต. เพิ่งชี้ข้อกล่าวโทษฝ่ายที่ต่อสู้ป้องกันการเข้ามาของรายใหม่ ในขณะที่รายใหม่ ที่ซึ่งก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน ก.ล.ต. ยังไม่ได้ชี้โทษเลย

เป็นว่าในเบื้องต้น คนที่อยู่เบื้องหลังการต่อสู้ที่แอบอยู่ข้างหลัง (อดีต) ประธานณิทธิมน อย่างเช่น สิทธิชัย หยุ่น เสริมสิน สมะลาภา อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งวัฒนกิจ และ ดวงกมล โชตะนา…รอดตัวจากเรดาร์ของก.ล.ต.

แล้วเรื่องที่ยังไม่จบก็ระทึกในยิ่งกว่าเรื่องแรกที่ถือเป็น “ดาบหลอก”…เพราะ ก.ล.ต. เคยแถลงชัดเจนเมื่อเดือนกันยายนว่า ประเด็นที่ตรวจสอบกรณี NMG ครอบคลุม 2 เรื่อง 1) เรื่องที่ผู้ถือหุ้นใหม่ NMG ร้องเรียนในการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น 2) ประเด็นเรื่องผู้บริหาร NMG ร้องเรียนถึง การเข้าครอบงำกิจการของรายใหม่ ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้อง “พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรัดกุม”

ประเด็นหลังนี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แถมยังไม่มีกรณีตัวอย่างมาก่อน นับแต่มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯครั้งล่าสุดหลายปีก่อน ว่าด้วยการกระทำที่เรียกกันทางเทคนิคว่า acting in concert

คำนี้ พูดกันง่ายๆ ในภาษาอังกฤษ แต่เนื่องจากเป็นภาษากฎหมาย จึงค่อนข้างมีหลากหลายแง่มุม

คำนี้ เดิมเป็นคำปรัชญาการเมือง โดย ฮันนาห์ อาเร้นท์ นักปรัชญาชื่อดังอเมริกันเชื้อสายยิว เคยระบุว่า อำนาจทางการเมือง คือ การกระทำที่ประสานกัน (acting in concert)…แต่เมื่อนำมาใช้ในเชิงกฎหมายการเงินก็เพี้ยนไปจากเดิม มีรากเหลือไม่มาก

นิยามนักการเงินเรื่อง acting in concert นี้ มีคำอธิบายว่า ในกรณีของการควบรวมกิจการ หมายถึง การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการโดยร่วมกับบุคคลอื่นๆที่ทำให้มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทจดทะเบียน

ตามหลักแล้ว คนที่เข้าซื้อหุ้นในบริษัทมหาชนจดทะเบียนเป้าหมายเพื่อถือหุ้นในสัดส่วนใหญ่ (ตามนิยามของกฎหมาย) จะต้องแสดงตัวตนให้สาธารณะทราบว่าเป็นใคร และหากถือหุ้นได้จำนวนมากเพียงพอ ก็จะต้องประกาศทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ จากผู้ถือหุ้นอื่นๆ

นักลงทุนขาใหญ่จำนวนมาก เลือกเอาการซ่อนหรืออำพรางตัวเอง อาจจะไม่อยากทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ หรือ ไม่กล้าแสดงตัว ก็จะกระจายหุ้นแบ่งให้กับคนอื่นๆ ที่เป็นนอมินี ซึ่งกรณีนี้ ผู้กำกับดูแล (นายทะเบียน หรือคนที่เกี่ยวข้อง) จะถือว่า คนที่รับแบ่งหุ้นไปเหล่านั้น ถือว่ากำลัง acting in concert ด้วย ต้องแสดงตัวให้พร้อมกัน ในฐานะเสมือนกลุ่มเดียวกัน

กฎหมายหลักทรัพย์ไทย…มีระบุว่าไว้ 3 ประเด็นเลย คือ

– หลักเกณฑ์สำหรับกรณีการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการโดยร่วมกับบุคคลอื่นที่ทำให้มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทจดทะเบียน (acting in concert) เพื่อให้สะท้อนถึงอำนาจควบคุมที่แท้จริงของบุคคลที่ร่วมกันได้มาและใช้อำนาจควบคุมในกิจการดังกล่าว (มาตรา 247)

– การนับรวมหลักทรัพย์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้มีหน้าที่รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์และผู้มีหน้าที่ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมถึงผู้ควบคุม (controlling person) บุคคลดังกล่าวด้วย จากเดิมที่นับรวมเฉพาะกับผู้ที่ถูกควบคุม (controlled person) (มาตรา 258)

– ความคุ้มครองให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดทุน ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารพยายามป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นมาครอบงำกิจการ (anti-takeover mechanism) โดยกำหนดให้การป้องกันดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งกรรมการหรือผู้บริหารต้องรับผิดชอบส่วนตัวหากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว (มาตรา 250/1)

ใครที่คิดว่า เรื่อง NMG จะจบลงง่ายๆ…อย่าพึงหวัง เพราะดาบที่ 2 ของ NMG นี้  เชื่อกันว่า ก.ล.ต. น่าจะถือโอกาส “กำหนดบรรทัดฐาน”ในกรณี acting in concert ให้เป็น “ต้นแบบ” ของการเทกโอเวอร์ฉันปรปักษ์…ให้รู้แล้วรู้รอด

หลังดาบ 2 ซึ่งน่าจะเป็น ดาบจริง สุทธิชัย หยุ่น และพลพรรค รอนั่งหัวร่ออยู่ดังๆในอีกไม่นาน…อิ อิ อิ

Back to top button