กดค่าการตลาด ฆาตกรรมปั๊มเล็ก.!
ต้องยอมรับว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่อง “ค่าการตลาด” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในแวดวงพลังงานอีกครั้ง หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมากล่าวอ้างว่า มีบางช่วงที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 บาท แต่บางช่วงขึ้นไปสูงกว่า 2 บาท โดยเฉพาะค่าการตลาดน้ำมันเบนซินที่สูงเกินค่าที่เหมาะสม พุ่งไปแตะที่ 4.8 บาทต่อลิตร ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมควรอยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อลิตรเท่านั้น...
ต้องยอมรับว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่อง “ค่าการตลาด” กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในแวดวงพลังงานอีกครั้ง หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมากล่าวอ้างว่า มีบางช่วงที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 บาท แต่บางช่วงขึ้นไปสูงกว่า 2 บาท โดยเฉพาะค่าการตลาดน้ำมันเบนซินที่สูงเกินค่าที่เหมาะสม พุ่งไปแตะที่ 4.8 บาทต่อลิตร ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมควรอยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อลิตรเท่านั้น…
ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ย. 2566 พบว่า เบนซิน 95 ค่าการตลาด 3.5121 บาทต่อลิตร, แกสโซฮอล์ 95 (E10) ค่าการตลาด 3.6150 บาทต่อลิตร, แกสโซฮอล์ 91 ค่าการตลาด 3.7482 บาทต่อลิตร, แกสโซฮอล์ E20 ค่าการตลาด 3.6759 บาทต่อลิตร, แกสโซฮอล์ E85 ค่าการตลาด 2.8011 บาทต่อลิตร, ดีเซล B7 ค่าการตลาด 1.8450 บาทต่อลิตร, ดีเซล B10 ค่าการตลาด 1.8450 บาทต่อลิตร, ดีเซล B20 ค่าการตลาด 1.8450 บาทต่อลิตร, LPG ค่าการตลาด 3.2566 บาทต่อลิตร
พอเห็นค่าการตลาดโป่งปุ๊บ ก็ทำให้ภาครัฐเริ่มขยับปั๊บ ส่งสัญญาณจะคุมค่าการตลาดให้ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร เพื่อให้ประชาชนใช้รถ-เติมน้ำมันได้สบายกระเป๋ามากขึ้น…ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร..? จะใช้ไม้นวมขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน หรือใช้ไม้แข็งบีบบังคับเอากฎหมายมาควบคุม..? ก็ต้องติดตามกันต่อไป
แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความหวั่นไหวกับปั๊ม เนื่องจากค่าการตลาดเป็นกำไรที่ปั๊มจะได้ ซึ่งเงินส่วนนี้ก็จะถูกนำไปใช้บริการจัดการภายในปั๊ม ไล่มาตั้งแต่จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำ ค่าคนสวนตัดแต่งต้นไม้ รวมถึงเงินเดือนเด็กปั๊ม เป็นต้น
ถ้ามองปั๊มขนาดใหญ่ มีจำนวนสาขาเยอะหลายพันสาขา ผลกระทบค่อนข้างจำกัด หรือไม่ก็อาจไม่กระทบเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะมีรายได้หลากหลาย มีธุรกิจนอนออยล์เข้ามาชดเชย เช่น ธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหาร ศูนย์คาร์แคร์ ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร ฯลฯ รวมถึงการปล่อยพื้นที่ภายในปั๊มให้เช่า
ในขณะที่ปั๊มเล็กจะแย่ จะอยู่ยากขึ้น เพราะแม้เห็นชื่อปั๊มเป็นแบรนด์ใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เป็นของบริษัทอย่างเดียว ส่วนใหญ่เกิน 80% เป็นโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ หรือที่เรียกว่าดีลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SME)…กลุ่มนี้น่าสนใจ เพราะถ้าค่าการตลาดถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินจริง อาจอยู่ไม่ได้อ๊ะป่าว..??
ก็มีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า หากภาครัฐจะทำประชานิยมจริง…อุ๊ย ต้องการช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนในเรื่องราคาน้ำมัน ก็ควรไปปรับโครงสร้างภาษีลงจะลดราคาได้มากกว่า โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต ซึ่งที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีสรรพสามิตได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
การหันมากดหรือคุมค่าการตลาดเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดอ๊ะป่าว..??
โอเค…การกดค่าการตลาดให้อยู่ในระดับต่ำถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชนผู้ใช้น้ำมัน แต่จะกลายเป็นดาบฆ่าปั๊มเล็กหรือเปล่า..?? อันนี้ก็น่าคิด
ส่วนปั๊มใหญ่ไม่กระทบหรือกระทบน้อย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มสีฟ้าของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, ปั๊มสีเขียวอ่อนบางจาก และสีแดงเอสโซ่ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP และปั๊มสีเขียวเข้มของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG แต่ในมุมของหุ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยเชิงลบที่จะตามหลอกหลอนไปเรื่อย ๆ…
แหม๊…ทำท่าจะลืมตาอ้าปากได้ ก็มีปัจจัยลบมากระแทกซ้ำอีกแล้ว…แล้วเมื่อไหร่หุ้นปั๊มจะหมดเคราะห์หมดโศกกันล่ะเนี่ย…
น่าเห็นใจคนที่มีหุ้นปั๊มติดพอร์ตจริง ๆ พับผ่าสิ..!!
…อิ อิ อิ…