สศก. มองราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงช่วยลดต้นทุน-ดัน GDP ภาคการเกษตร

สศก. มองราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลงช่วยลดต้นทุน-ดัน GDP ภาคการเกษตรโตเพิ่ม 0.24%


นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีการใช้มากในภาคการขนส่งและภาคการผลิตได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 58 โดยมีราคาเฉลี่ย 24.83 บาท/ลิตร จากปี 56 และปี 57 ที่มีราคาเฉลี่ย 29.97 และ 29.69 บาท/ลิตร อีกทั้งในปี 59 คาดว่าจะมีการปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ทั้งนี้ สศก.ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซลที่มีต่อภาคเกษตร ทั้งด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ต้นทุนการผลิต และผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเปรียบเทียบกรณีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ลดลงจากระดับราคา 24.50 บาท/ลิตร ไปอยู่ที่ระดับ 19.50 บาท/ลิตร หรือลดลง 20% ซึ่งพบว่า ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (GDP ภาคเกษตร) ส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.24% เนื่องจากการใช้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตขั้นกลางของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง ย่อมส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรหรือมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตรมีทิศทางเพิ่มขึ้น

ด้าน น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษก สศก. เปิดเผยว่า การที่ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตรลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรมีทิศทางลดลงไปด้วย โดยพบว่า สาขาบริการทางการเกษตรมีต้นทุนการผลิตลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล รองลงมา คือ การทำประมงทะเลซึ่งมีการใช้น้ำมันดีเซลปริมาณมากในเรือประมงทะเล ส่วนการเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงปศุสัตว์ ส่วนใหญ่มีการใช้น้ำมันโดยตรงน้อย แต่จะได้รับผลทางอ้อมจากการที่ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และอาหารสัตว์ มีราคาลดลง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ พบว่า ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 11

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงนอกจากจะส่งผลทางบวกทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรลดลงแล้ว แต่กลับส่งผลทางลบทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง เนื่องจากการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งราคาสินค้าเกษตรบางชนิดมีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา รวมถึงอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชพลังงานทดแทน หากแต่การปรับตัวลงของราคาสินค้าเกษตรจะเกิดขึ้นช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรต้องใช้ระยะเวลา

ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปี 59 เป็นการผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 58 ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับสูงกว่าราคาที่คาดการณ์ในปี 59 หากราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทำให้มีกำลังซื้อลดลงด้วย โดยกรณีของยางพารา ถือเป็นสินค้าเกษตรเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตยางสังเคราะห์ต้องใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โรงงานอุตสาหกรรมจะใช้โพลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบมากขึ้น ทำให้ความต้องการยางพาราลดลง ส่งผลราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

Back to top button