VRANDA มั่นใจ Q4 สดใส! รับธุรกิจโรงแรม-อสังหาฯ ฟื้นตัว
VRANDA มั่นใจ Q4 สดใส! รับรู้ธุรกิจโรงแรมที่มาจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายห้องที่เพิ่มขึ้น และจากอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีการโอน ขณะที่โครงการใหม่บนพื้นที่ 14 ไร่ แบ่งเป็น 2 เฟส มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 – 2,200 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ภายใน 4 ปี
นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินงานและแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน “Opportunity Day” ว่าในไตรมาส 3/2566 สำหรับธุรกิจโรงแรมมีรายได้เฉลี่ยต่อห้อง/วัน (RevPAR) เติบโต 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 61 ล้านบาท ติดลบ 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีรายได้อยู่ที่ 34 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯมีการขายยูนิตสุดท้ายของโครงการ “Veranda Residence Pattaya” สำหรับธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มยังเป็นส่วนที่เป็นปัญหาเนื่องจากมีการติดลบต่อเนื่อง
ขณะที่ธุรกิจรีสอร์ทที่ทางบริษัทฯ เน้นกลุ่มลูกค้าคนไทยอยู่ยังมีการเติบโตใกล้เครียงจากปี 2562 จากนักท่องเที่ยวเข้าพักในชะอำ และหัวหิน และนอกจากนี้เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 4/2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าคนไทยเป็นแน่
“สำหรับซอฟต์พาเวอร์ของไทยที่รัฐบาลสนับสนุนเป็นแผนระยะยาวของประเทศ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงเรื่องการใช้จ่าย 50,000 บาท ที่จะเข้ามาต้นปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ในส่วนของบริการด้วย โดยส่วนนี้จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจของบริษัทฯได้ดี” นายภวัฒก์ กล่าว
นายภวัฒก์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการดำเนินงานในอนาคตว่าธุรกิจโรงแรมปีหน้า บริษัทฯ เชื่อว่าจะมีการเติบโต (Organic growth) ส่วนหนึ่งมาจากฐานปีนี้ที่ค่อนข้างต่ำ โดยประมาณปลายปีช่วงเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม จะเริ่มดำเนินการขยายโรงแรมอีก 2 แห่ง ได้แก่ที่ภูเก็ต 160 ห้อง และสมุย 20 ห้อง ซึ่งจากเดิมที่มีแค่ 50 ห้อง เพิ่มขึ้นเกือบ 40% โดยจะได้เห็น Full Year Impact ในปีถัดไป โดยบริษัทฯ เชื่อว่าจะมี Organic growth อยู่บ้างเนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
สำหรับความคืบหน้า Veranda Resort Phuket , Autograph Collection มีการก่อสร้างไปค่อนข้างมากแล้ว 35%
ในส่วนของการขยาย Rocky’s boutique resort , Veranda Collection Samui จากการพัฒนาพื้นที่เหลือ เริ่มมีการก่อสร้างแล้วโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีหน้าทันช่วงไฮซีซั่น ซึ่งเพิ่มมาประมาณ 20 keys
ทั้งนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โครงการ Pool Villas ที่ชะอำ คาดว่าปลายปีนี้จะโอน 1-2 ยูนิต ซึ่งจะมาเติมรายได้ในส่วนของปีนี้ได้ รวมทั้งของเก่าที่มีการโอนต่อเนื่องด้วย ในส่วนของปีหน้าจะมีรายได้จาก “Veranda Pool Villas Hua Hin Cha Am” ทั้งจากที่มีแบ็กล็อกอยู่แล้ว และบ้านตัวอย่างที่เพิ่งเสร็จ คาดว่าน่าจะการเติบโตของยอดขายด้วย โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นว่ารายได้หลังจากนี้จะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่ง “Veranda Pool Villas Hua Hin Cha Am” ได้รับใบอนุญาตโรงแรมแล้ว และจะเริ่มเปิดในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นทั้งบ้านตัวอย่าง และห้องพักให้เช่า
ขณะที่ส่วนของโครงการ “Veranda Villas & Units Phuket” มีการจองไปครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งมีคอนโดอยู่ประมาณ 12 ยูนิต และสระว่ายน้ำในตัว รวมทั้งพูลวิลล่าอีก 6 ยูนิต ซึ่งจะเริ่มทยอยโอนได้ในปลายปีหน้า
พร้อมแย้มแผนเปิดตัวโครงการใหม่อยู่บนพื้นที่ขนาดประมาณ 14 ไร่ แบ่งเป็น 2 เฟส มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 – 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายใน 4 ปี
“บริษัทฯ คาดว่าจะมีการเติบโตจากทั้งธุรกิจโรงแรมที่มาจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายห้องที่เพิ่มขึ้น และจากอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีการโอนในไตรมาส 4/2566 ทั้งนี้บริษัทฯ จะมีการปิดสาขาของ Gram pancake และ Pablo Cheese tarts ที่เป็นปัญหาซึ่งจะช่วยลดการขาดทุนจากกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยบริษัทฯ มั่นใจว่าในไตรมาส 4/2566 ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะดีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า” นายภวัฒก์ กล่าว
ด้านนายวรุต ตันติพิภพ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินกลาง นักลงทุนสัมพันธ์ และเลขานุการบริษัท VRANDA เปิดเผยถึงโครงสร้างรายได้ในไตรมาส 3/2566 โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจโรงแรม คิดเป็นสัดส่วน 78%, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วน 10%, ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นสัดส่วน 7% และอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วน 2%
โดยธุรกิจโรงแรมในไตรมาส 3/2566 ปิดอัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) ที่ 59% มีอัตราเฉลี่ยต่อห้อง (ADR) ที่ 4,038 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อห้อง/วัน (RevPAR) ที่ 2,373 บาท เติบโตขึ้นเล็กน้อย ส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรม 258 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 61 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ EBITDA ปรับลดลง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการที่บริษัทฯ มีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อจะมาซัพพอร์ตช่วงไฮซีชั่นในไตรมาส 4/2566 และในหน้าปีหน้า และเนื่องจากบริษัทฯ มีการปิดปรับปรุงห้องพักที่หัวหินโดยเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน โดยในปัจจุบันปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3/2566 มีการโอนไป 34 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวมปิดที่ 23 ล้านบาท ส่วน EBITDA อยู่ที่ 9 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทยอยปิดสาขา และปรับโครงสร้างต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในปลายปีนี้
ขณะที่ภาพรวมรายได้ในไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ประมาณ 329 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้นมาส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายทางการเงิน เนื่องจากตลอดช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มองว่าปัจจุบันเป็นจุดพีคสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ ประเด็นหุ้นกู้ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนกังวลนั้น บริษัทฯ ได้มีการออกหุ้นกู้ไปปีที่แล้ว ช่วงเดือนพฤศจิกายนประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี 25 วัน โดยจะครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งหนี้สินที่มีดอกเบี้ยส่วนใหญ่ของบริษัทฯ มาจากธนาคาร ถือเป็นสถาบันการเงินใหญ่ โดยบริษัทฯ มองว่าหุ้นกู้ของบริษัทฯ มีจำนวนที่ไม่มาก และสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่ไม่สูง จึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำ และช่วงอายุใกล้ๆ ครบกำหนดหุ้นกู้จะเป็นช่วงที่บริษัทฯ ทยอยโอนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่ที่ชะอำ และโครงการที่ภูเก็ต ซึ่งปัจจัยตรงนี้สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทฯ ได้พอสมควรถ้าหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น