ธ.ก.ส. เตรียมชดเชยเกษตรกรชาวสวนยางทุ่ม 1.27 พันลบ.ช่วยกว่า 8 แสนครัวเรือน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีเอกสารสิทธิ์ ประกอบด้วยเจ้าของสวนยางหรือผู้เช่าและคนกรีดยางในสัดส่วนร้อยละ 60:40 อัตราไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ครัวเรือน ที่มีสวนยางเปิดกรีดไม่เกิน 15 ไร่ กรณีครัวเรือนที่มีสวนยางเปิดกรีดเกิน 15 ไร่ขึ้นไปให้การช่วยเหลือไม่เกิน 15 ไร่
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีเอกสารสิทธิ์ ประกอบด้วยเจ้าของสวนยางหรือผู้เช่าและคนกรีดยางในสัดส่วนร้อยละ 60:40 อัตราไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ครัวเรือน ที่มีสวนยางเปิดกรีดไม่เกิน 15 ไร่ กรณีครัวเรือนที่มีสวนยางเปิดกรีดเกิน 15 ไร่ขึ้นไปให้การช่วยเหลือไม่เกิน 15 ไร่
โดยเกษตรกรที่เป็นเจ้าของหรือผู้เช่าสวนยางจะได้รับเงินชดเชย 900 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งเป็นการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต 700 บาทต่อไร่ และสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพการผลิต 200 บาทต่อไร่ สำหรับคนกรีดยางจะได้รับเงินชดเชย 600 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15ไร่ เพื่อช่วยค่าครองชีพคนกรีดยาง โดยใช้งบประมาณ 12,750 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2557/58 และมีบัญชีเงินฝากไว้กับ ธ.ก.ส. รวมทั้งเป็นเป็นผู้ปลูกยางพาราที่มีพื้นที่เปิดกรีดในปัจจุบันตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป โดยสวนยางต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ สำหรับคนกรีดยางที่เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้ที่กรีดยางให้กับเกษตรกรตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2557/58 มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. โดยเกษตรกรสวนยางพาราและคนกรีดยางสามารถขอใช้สิทธ์เข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัด สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.58-29 ก.พ.59
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้สนับสนุนสินเชื่อโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม ภายใต้แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ปีการผลิต 2558/59 โดยขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากเดิมที่คณะกรรมการ ธ.ก.ส.เคยอนุมัติไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร และสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรหรือเกี่ยวเนื่องการเกษตร นอกเหนือจากการทำสวนยางเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรของไทย