มองย้อนกลับไป 3 ทศวรรษ พลวัต 2015

ความพยายามของกองทุนเก็งกำไรน้ำมัน ในการดันราคาน้ำมันดิบเหนือ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อก่อนวันคริสต์มาส เป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว ไม่ใช่จีรังยั่งยืน เพราะหลังจากวันหยุดยาวมา ราคาน้ำมันก็ร่วงกลับมาที่จุดเดิมแรงด้วยปัจจัยเดิมๆ


ความพยายามของกองทุนเก็งกำไรน้ำมัน ในการดันราคาน้ำมันดิบเหนือ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อก่อนวันคริสต์มาส เป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว ไม่ใช่จีรังยั่งยืน เพราะหลังจากวันหยุดยาวมา ราคาน้ำมันก็ร่วงกลับมาที่จุดเดิมแรงด้วยปัจจัยเดิมๆ

ผลพวงของราคาน้ำมันที่กลับสู่ภาวะตลาดล้นเกินอีกครั้งตามปกติ ทำให้กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดเก็งกำไรอื่นๆ ให้พลอยเรรวนไปด้วย

สถานการณ์นี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก

ถ้าหากมองอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันเป็นหลัก  (ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะน้ำมันเป็นสินค้าการเมืองระดับโลกและระดับประเทศ) หลายคนเชื่อว่า ปลายปี 2559 หรือ ต้นปี 2560 ราคาน้ำมันน่าจะเริ่มผงกหัวกลับไปได้ แต่หากมองย้อนกลับไปในวงจรน้ำมัน ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า น่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี เมื่อเทียบกับภาวะทำนองเดียวกันในคริสต์ทศวรรษ 1980 ที่กินเวลานานถึง 6 ปี

สิ่งที่หลายคนพยายามไม่พูดถึง แต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือ การเบี้ยวหนี้ตราสารหนี้ของบรรดาบริษัทน้ำมันจำนวนมาก ที่เรียกว่า Energy defaults  หมายถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานที่ออกตราสารหนี้ไปสำรวจขุดเจาะจะถึงขั้นล้มละลาย เริ่มมีมากขึ้น

โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ เปิดแผยว่า ตราสารหนี้ประเภท High Yield Bonds ของธุรกิจพลังงาน  โดยรวมมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ใน 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นเป็น 10% ในขณะที่ High Yield Bond ของธุรกิจสำรวจและขุดเจาะ เพิ่มขึ้นมาเป็น 19% ทั้งๆ ที่ปี 2014 อยู่แค่ 1% เท่านั้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้กองทุนประเภท High Yield Bond ร่วงหนักในช่วงที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีนับแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ เพราะในตลาดตราสารหนี้โลกนั้น มีสัดส่วนถ่วงน้ำหนักของธุรกิจพลังงานถึง 22%

ที่สำคัญ ขาลงของธุรกิจพลังงาน ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนในการลงทุนไปสู่ภาคการผลิตอื่นของโลก ชะลอตัวลงรุนแรง เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ จากมุมมองเรื่องโอกาส กลายเป็นเน้นความปลอดภัยแทน

ในอดีต ราคาน้ำมันดิบหลังจากเกิดวิกฤตราคาน้ำมันครั้งแรกโดยกลุ่มโอเปกเป็นผู้ริเริ่มทำ “สงครามน้ำมัน” กับชาติตะวันตก ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งแรงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ยาวนานถึง 10 ปี จากระดับ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นไปสูงสุดที่ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

วิกฤตราคาน้ำมัน เกิดผล 3 ทางพร้อมกันคือ 1) วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในชาติที่พึ่งพาน้ำนัมนำเข้าเป็นหลัก 2) ชาติต่างๆ รณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างกว้างขวาง 3) ชาตินอกโอเปกเร่งการสำรวจขุดเจาะน้ำมันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสหภาพโซเวียต และทะเลเหนือ

การปรับตัวของตลาดดังกล่าว ทำให้ราคาน้ำมันถดยกลับลงไปสู่ระดับ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลครั้งใหม่ เพราะน้ำมันเริ่มล้นตลาดตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เป็นต้นมา กินเวลายาวนานถึง 6 ปี

ครั้งนั้น โอเปกถกเถียงกลยุทธ์รับมือกับภาวะน้ำมันตลาดล้นเกินว่า จะลดการผลิตโดยคุมโควต้าชาติสมาชิก หรือ จะเพิ่มการผลิตเพื่อทำลายคู่แข่งที่มีต้นทุนสูงกว่า ปรากฏผลว่า เลือกแนวทางแรก

ทางเลือกดังกล่าว ทำให้ผลผลิตของโอเปกลดต่ำลงรุนแรงกว่าครึ่งจากวันละ 10 ล้านบาร์เรล เป็นวันละแค่เพียง 3.5 ล้านบาร์เรล ในช่วง ค.ศ. 1980-1986 แต่ไม่สามารถประคองราคาน้ำมันได้ ราคายังดำดิ่งไปเรื่อยๆ เพราะปรากฏว่าผลผลิตจากชาตินอกโอเปกแซงหน้าออกสู่ตลาดมากกว่าโอเปก 

ยิ่งวก่านั้น ชาติสมาชิกโอเปกเองก็พากันแอบลักลอบขุดเจาะน้ำมันเกินโควต้าที่กำหนด จนกระทั่งซาอุดีอาระเบียทนไม่ไหว จึงตัดสินใจย้อนรอย เพิ่มการผลิตน้ำมันตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1985 โดยระบุว่าจากนี้ไป จะไม่ขอเป็น “ผู้ผลิตที่ยืดหยุ่นต่อราคา” (swing producer) โดยเร่งผลิตน้ำมันเต็มที่ จนกระทั่งราคาน้ำมันดิ่งเหวลงไปถึง 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาที่ดิ่งเหว ทำให้ชาตินอกโอเปกหลายรายนั้นเผชิญหน้ากับการล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหภาพโซเวียต ที่เคยเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกช่วงหนึ่ง (เชื่อกันว่า นี่เป็นตัวจุดประกายให้พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตล่มสลายไปด้วย)   

ไม้ตายของซาอุดีอาระเบียได้ผล การลงทุนสำรวจขุดเจาะน้ำมันทั่วโลกหยุดยั้งไปยาวนาน และหลายประเทศที่เคยส่งออกน้ำมันดิบ เริ่มตั้งโรงกลั่นและหันไปลงทุนสร้างธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ที่สำคัญ ทำให้อิทธิพลของโอเปกกลับมาผงาดอีกครั้งหนึ่งจนถึงล่าสุด

หากมองย้อนหลังกลับไป จะเข้าใจดีว่า การประชุมโอเปกล่าสุด ที่มีมติเรื่องยกเลิกจำกัดการผลิตของชาติสมาชิกโอเปกเพื่อหันมาสู้ในทุกราคาจนกระทั่งเข้าเขตน้ำมันราคาถูกระลอกใหม่ เป็นการเลี่ยงฝันร้าย และต้องการให้ ตลาดก่อปรับสมดุลใหม่ ซึ่งกินเวลานานเท่าใด ยังไม่มีใครรู้

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินระบุว่า หากเทียบราคาน้ำมันแล้วหักด้วยเงินเฟ้อ พบว่า ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน ยังคงแพงกว่าช่วงน้ำมันล้นตลาด เพราะร่วงจากระดับเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (เทียบกับราคาในช่วง 1980 จะอยู่ที่ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) และราคาปัจจุบันที่ระดับ 36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ประมาณ 15 ดอลลาร์ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอดีต) เท่ากับ ยังมีโอกาสจะลงต่อไปได้อีกที่ระดับ 22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอดีต)

ความหมายโดยนัยคือ ราคาน้ำมันที่ระดับปัจจุบัน ยังคงสูงไป ไม่ใช่ราคาต่ำสุดของรอบนี้ ควรจะลงไปที่ระดับต่ำกว่า 25 ต่อบาร์เรล ถึงจะทำให้เกิดภาวะที่ทำให้ราคาน้ำมันล้นตลาดหยุดยั้งได้ ผลักดันให้ผู้ขุดเจาะที่ต้นทุนสูงต้องออกจากตลาดไปอย่างยั่งยืน

ข้อเท็จจริงจากอดีตที่นำมาเทียบกับปัจจุบันเช่นนั้น อาจจะดูค่อนข้างเลวร้ายไปสักนิด แต่ก็ไม่มีการันตีว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้

Back to top button