CHO หุ้นล้างผลาญนักลงทุน
การเพิ่มทุนแต่ละครั้งของบริษัทจดทะเบียนมักจะมีข้ออ้างที่สวยหรูของผู้บริหารกำกับด้วยเสมอ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลที่ดูดีเพียงใดก็ไม่อาจปิดบังข้อเท็จจริงได้
การเพิ่มทุนแต่ละครั้งของบริษัทจดทะเบียนมักจะมีข้ออ้างที่สวยหรูของผู้บริหารกำกับด้วยเสมอ แต่การเพิ่มทุนแบบฆ่าตัวตายของหุ้นประกอบรถยนต์ที่ขาดทุนต่อเนื่องจนมีการขาดทุนสะสมมากกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งมากกว่า 28 เท่าตัว ทำให้ข้ออ้างอันสวยหรูไร้ค่าไปทันที
ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลที่ดูดีเพียงใดก็ไม่อาจปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทดังกล่าวไร้อนาคตอย่างน่ารังเกียจ
เหตุผลของนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHO เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ได้มีมติอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น และการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 4 (CHO-W4) ของบริษัท และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดวันใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนควบวอร์แรนต์แล้ว
มูลค่าของการระดมทุน ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยอ้างว่ามีวัตถุประสงค์นำเงินระดมทุนไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ขยายธุรกิจในอนาคตเพื่อสร้างฐานรายได้ที่มั่นคงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ เช่น โครงการลงทุนในการดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยให้กับบริษัทชั้นนำในประเทศจีน เช่น AVIC-INTL PROJECT ENGINEERING COMPANY และ ANHUI ANKAI AUTOMOBILE CO., LTD. ในการนำเข้ารถบัสไฟฟ้าทั้งคัน และ/หรือ การนำเข้าชิ้นส่วนรถบัสไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประกอบเป็นรถบัสไฟฟ้าในประเทศไทยแบบ Semi-Knocked Down Kit (SKD) เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ตลอดจนให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของรถโดยสาร EV-BUS โดยตรงผ่านตัวแทนจำหน่ายของบริษัททั่วประเทศไทยเป็นเหตุผลเดิม ๆ ที่เรามักได้เห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่อำพรางความล้มเหลวของ CHO ที่ขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปีรวดหลังจากผ่านการเพิ่มทุนอย่างมากมายเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า จนกระทั่งล่าสุดราคาหุ้นของบริษัทถดถอยลงมาอยู่แถวระดับ 50 สตางค์
แต่การเพิ่มทุนครั้งมโหฬารกว่า 27 เท่าในหุ้นสามัญแถมด้วยวอร์แรนต์อีกบางส่วนเพียงเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน 1,200 ล้านบาท โดยราคาต่ำกว่าพาร์ เป็นการทำให้ราคาหุ้นต่ำลงจนกลายเป็นส่วนต่ำมูลค่าหุ้น ที่ระดับเพียงแค่ 22 สตางค์ ถือเป็นราคาจอมปลอม ทำให้บุ๊กแวลูของบริษัทจะต้องลดต่ำลงไปฮวบฮาบ โดยไม่มีแนวโน้มเลยว่าจะฟื้นกลับมาได้อีกเมื่อใด ซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีทางเลือกน้อยลงเหลือเพียงแค่ 2 ทางเลือกว่า 1) จะปล่อยให้หุ้นร่วงลงไปไม่ยอมเพิ่มทุน แต่ไปซื้อขายที่กระดานเมื่อเวลาราคาหุ้นร่วงลงไปถึงที่สุดซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าร่วงลงไปที่เท่าไร หรือ 2) ขายหุ้นที่มีอยู่เดิมทิ้งไปโดยยอมตัดใจขาดทุนในทันทีพร้อมกับการสาปส่งหุ้นรายนี้ไปไม่หวนกลับมาข้องแวะอีกตลอดไปพร้อมกับค่าโง่ที่เสียเวลาและการขาดทุนจำนวนหนึ่ง
เพราะสำหรับนักลงทุนนั้นมีทางเลือกอีกมากมายในอนาคต ไม่มีใครยอมจมปลักไปกับคำพูดที่เอารัดเอาเปรียบของผู้บริหารที่เห็นตลาดหุ้นเป็นแหล่งดูดเงินจากการขายฝันกลางวัน