พาราสาวะถี

ในขณะที่มีการเปิดฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนของรัฐบาลเศรษฐา 1 ของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ประจำปี 2566 ไปแล้ว ทางนักข่าวก็ต้องยอมรับเสียงสะท้อนที่จะย้อนกลับมายังตัวเองด้วย


ในขณะที่มีการเปิดฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนของรัฐบาลเศรษฐา 1 ของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ประจำปี 2566 ไปแล้ว ทางนักข่าวก็ต้องยอมรับเสียงสะท้อนที่จะย้อนกลับมายังตัวเองด้วยว่า ทำไมช่วงรัฐบาลเผด็จการ คสช.และต่อเนื่องช่วงต้นของรัฐบาลสืบทอดอำนาจจึงไม่กล้าที่จะตั้งฉายาทำตัว “หัวหด” สยบยอมอำนาจเผด็จการ ด้วยข้ออ้างสารพัด ผิดกับรัฐบาลปัจจุบันที่เพิ่งเริ่มทำงานได้แค่ 3 เดือน ก็รีบตั้งฉายากันแล้ว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นภาพสะท้อนของความเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เมื่อ เศรษฐา ทวีสิน อารมณ์ดีบอกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาเป็นธรรมเนียมของนักข่าวที่ทำกันทุกปีก็ไม่ว่ากัน ฉายารัฐบาล แกงส้ม “ผลัก” รวม เจ้าตัวบอกว่าไม่ค่อยเข้าใจคำว่าผลักสักเท่าไหร่ แต่หลักแกงส้มเป็นแกงที่มีรสชาติดี และก็รู้ว่ารัฐบาลรวมกันหลายพรรคอยู่แล้ว และรสชาติแกงส้มก็มีทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด คิดว่ารัฐมนตรีทุกคนก็ครบเครื่อง พร้อมทำงานให้กับประชาชน

ส่วนฉายานายกฯ ที่ว่า เซลส์แมนสแตนด์ “ชิน” นั้น เศรษฐาก็บอกว่า ใครจะมองว่าตนอาจจะเป็นเงาของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่รอการขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็แล้วแต่ แต่วันนี้ตนเป็นนายกฯ อยู่และทำหน้าที่เต็มที่ พยายามตั้งใจเอาให้ครบ 4 ปีให้ได้ สำคัญมากกว่านั้นไม่ใช่อยู่ไปให้ครบ 4 ปีแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ดีขึ้น ส่วนสแตนด์ “ชิน” ที่บอกว่าคอยสำหรับให้คนครอบครัวไหนเข้ามา อันนี้ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินมากกว่า ตรงนี้ก็ต้องคอยการเลือกตั้งครั้งต่อไป ตนเข้าใจไม่ได้คิดอะไร

อธิบายแบบนี้ก็ชัดเจนว่า เรื่องของอุ๊งอิ๊งไม่ใช่จะเข้ามาเป็นนายกฯ ในระยะเวลาอันใกล้ อย่างเร็วก็ต้องรอหลังเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นธรรมดาของสื่อสายการเมืองโดยเฉพาะพวกประจำทำเนียบฯ ที่จะวิเคราะห์กันไปในมุมที่เห็น จะเรียกว่าเป็นการเร้าความน่าสนใจก็ไม่ผิด แต่ข้อเท็จจริงย่อมรู้กันอยู่แล้วว่าบริบททางการเมือง ณ วันนี้เป็นอย่างไร จังหวะก้าวของทั้งรัฐบาลและเพื่อไทยจะเดินกันไปในทิศทางไหน เช่นเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาล

สำหรับฉายารัฐมนตรีรายอื่น ที่น่าจะโดนใจประชาชนโดยทั่วไปคงเป็นรายของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ได้ฉายา “ทวีสอดไส้” ในที่นี้ย่อมหนีไม่พ้น กระบวนการและระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมา ถูกมองว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ ทักษิณ ชินวัตร อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปกติธรรมดาที่จะคิดและมองกันได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าจับเอาเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นพวกขาประจำ ที่ไม่ว่าทุกอย่างจะทำตามครรลองและอยู่ในกระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องหาเหตุให้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

เรื่องของการตรวจสอบ หากใช้กลไกที่มีไม่ว่าจะโดยสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ก็สามารถทำได้ ไม่ใช่ตั้งข้อสังเกต ชวนให้สังคมสงสัย แล้วไม่ยอมรับฟังการชี้แจงใด ๆ อีกด้าน ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องชี้แจงแถลงไขเรื่องราวทั้งหมดให้กระจ่าง ไม่ใช่ปล่อยให้อึมครึมเหมือนที่เป็นอยู่ เมื่อย้ำว่าที่ทำไปนักโทษที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า ก็ต้องแจกแจงมาให้หมดว่าได้รับกันกี่คน และการรักษาอาการเจ็บป่วยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเหมือนทักษิณนั้น มีจำนวนกี่ราย

หากไม่มีลับลมคมใน สังคมก็จะคลายความเคลือบแคลงไปเอง อย่างไรก็ตาม หากมองโดยภาพรวมต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ได้ก้าวข้ามพ้นทักษิณไปแล้ว ไม่ว่าจะได้รับอภิสิทธิ์อย่างไรแต่เมื่อเป็นการเดินทางกลับเข้ามารับโทษตามกระบวนการ และได้รับการอภัยโทษและอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายหรือตามกระบวนการยุติธรรมที่นักโทษทุกรายต้องเดินกันตามนี้ ถือเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกฝ่ายต้องยอมรับ อย่าดึงไปเป็นประเด็นทางการเมือง

คงไม่ต่างกันกับความพยายามในการที่จะลากเอาความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปัตย์ หลัง เฉลิมชัย ศรีอ่อน ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคว่าจะโดดเข้าร่วมรัฐบาล ทั้งที่เศรษฐาก็ยืนยันหนักแน่นไม่คิดปรับ ครม. และเห็นว่า 314 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นมากพอและมีเสถียรภาพอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาโดยละเอียดก็จะพบว่า มุมของฝ่ายเสี้ยมก็เพื่อที่จะทำให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน และอาจส่งผลสั่นคลอนต่อเสถียรภาพ

เมื่อมองในด้านนี้นั่นย่อมหมายถึง เป็นการปล่อยข่าวของคนที่ยังหวังว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล หวังสูงถึงขั้นให้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องก่อนที่พวกลากตั้งจะหมดอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น หากหลังจากนั้นแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง พรรคที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำย่อมหนีไม่พ้นก้าวไกล แต่โจทย์หลังยังต้องรอลุ้นผลคดีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จะตัดสินทั้งในวันที่ 24 และ 31 มกราคมที่จะถึงนี้ก่อน จะรอดพ้นบ่วงกรรมที่หวังจะสอยให้พ้นถนนสายการเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะให้รัฐบาลเพื่อไทยมีปัญหา เศรษฐามีอันต้องกระเด็นตกเก้าอี้ที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องของพรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลแน่นอน แต่เป็นพวกอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ยังหวังว่าอำนาจเก่าจะได้กลับมาบริหารประเทศอีกคำรบ โดยไม่ได้เงยหน้ามองโลกแห่งความเป็นจริงว่า แกนนำที่เคยเรืองอำนาจนั้นไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว เหลือแค่บางรายที่ไม่ยอมถอดใจแต่ก็อ่อนแรง โรยราเต็มแก่ ไม่รู้ว่าจะทนกันไปได้สักกี่น้ำ

ว่ากันว่า ผลโพลของนิด้าที่ออกมาล่าสุด กับการเลือกบอร์ดประกันสังคม เป็นภาพสะท้อนการรุกคืบและความแข็งแกร่งในการสร้างฐานมวลชนของพรรคก้าวไกล แม้จะไม่รู้ว่าอนาคตจะต้องเจอกับอะไรอีกหรือไม่ แต่ในแง่ของผู้สนับสนุนถือว่าแข็งแรง และมีความหวัง แต่อีกด้านพรรคแกนนำรัฐบาลนอกจากจะเร่งสร้างฐานคนรุ่นใหม่ และเอาใจคนเมืองแล้ว ยังรุกคืบที่จะกินรวบ สส.ในซีกพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ด้วยความเชื่อมั่นว่าผลงานหากเป็นไปตามเป้าจะช่วยให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนใจ โจทย์การเมืองเป็นอย่างนี้ก็ยากที่พรรคอื่นจะสอดแทรก เบียดขบกับสองพรรคแกนนำสองซีกได้

Back to top button