KBANK คาดกรอบบาทสัปดาห์หน้า 33.80-34.50 บ. จับตาเงินเฟ้อไทย-โฟลว์ต่างชาติ
KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (2-5 ม.ค. 67) ที่ระดับ 33.80-34.50 บาท/ดอลลาร์ แนะจับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติและอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของไทย
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (2-5 ม.ค. 67) ที่ระดับ 33.80-34.50 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันพฤหัสบดีที่ 28 ธ.ค. 66 ที่ระดับ 34.16 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของไทย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. 66 ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนแรงงานเดือนพ.ย. 66 บันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 66 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. 66 ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของยูโรโซนเช่นกัน
สำหรับเงินบาทในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 34.10 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จากกระแสการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2567 หลังจากที่ดัชนีราคา PCE Price Index และ Core PCE Price Index ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในเดือนพ.ย.
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 25-28 ธ.ค. 66 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 3,175 ล้านบาท และ 4,651 ล้านบาทตามลำดับ
ทั้งนี้ ภาพรวมในปี 2566 นั้น เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในกรอบ 32.57-37.24 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาด ณ สิ้นปี 66 ที่ 34.16 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 1.3% จากระดับปิดสิ้นปี 65 ที่ 34.61 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปีท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด
อย่างไรก็ตาม เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังข้อมูลเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟด ซึ่งทำให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนถึงรอบการประชุม FOMC เดือนก.ค. 66 ประกอบกับเริ่มมีความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองในประเทศและจังหวะการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจไทย เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 66 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดแล้วที่ 5.25-5.50% และมีโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงในปี 67 นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน