DSI รับเพิ่ม 2 คดี “เนื้อสัตว์เถื่อน”พบนักการเมือง-จนท.รัฐ เอี่ยว
DSI ประชุมนัดแรกรับเพิ่ม 2 คดีพิเศษเกี่ยวกับเนื้อสัตว์เถื่อน หลังพบ นักการเมือง-เจ้าหน้าที่ 3 หน่วยงาน เอี่ยว พร้อมเรียกสอบ 4 พยาน 2 ชิปปิ้งเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐสัปดาห์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (3 ม.ค. 67) กรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน นำทีมเปิดประชุมนัดแรก หลังได้ดำเนินการคดีพิเศษที่ 5/2566 ขนวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ หรือ คดีหมูเถื่อน 161 ตู้ อีกทั้งได้ดำเนินขยายผลจนนำไปสู่การรับเป็นคดีพิเศษเพิ่มอีก 2 คดี
โดยเพื่อวางกรอบแนวทางสอบสวนถึงกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อน เมื่อปี 2564 อาทิ เนื้อหมูเถื่อน เนื้อวัวเถื่อน และตีนไก่สวมสิทธิ ซึ่งใช้วิธีการสำแดงเท็จเป็นสินค้าประมงและพลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ขณะนี้พบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายวงการ อาทิ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง บริษัทชิปปิ้งเอกชน และนักธุรกิจชาวจีน ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว
ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุด เปิดเผยภายหลังการประชุมของคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนกว่า 1 ชม. ว่าในวันนี้ได้มีการประชุมรับเป็นคดีพิเศษใหม่เพิ่มเติมอีก 2 คดี ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์สัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้นำออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว และคดีพิเศษที่ 127/2566
ขณะที่กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคดีพิเศษที่ 126/2566 เราพบว่าในกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน 10 แห่งที่ได้ดำเนินคดีไปแล้วนั้นได้มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ ออกไปก่อนหน้านี้ จำนวน 2,388 ตู้ โดยเป็นการสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าประเภทเนื้อปลาแช่แข็งพลาสติกพอลิเมอร์ และไข่ต้มสุก ซึ่ง DIS จะไปพิสูจน์ว่าตู้คอนเทเนอร์เหล่านี้ซึ่งถูกนำออกไปแล้วแท้จริงเป็นตู้สินค้าประเภทใด และได้มีการสำแดงก่อนออกจากท่าเรือเป็นสินค้าประเภทใดโดยคดีพิเศษที่ 126/2566 นี้เป็นการขยายผลมาจากคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้
อีกทั้งคดีพิเศษที่รับเพิ่มในวันนี้ คือ คดีพิเศษที่ 127/2566 โดยหลักๆ จะดำเนินคดีกับขบวนการองค์กรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ เกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อสัตว์เถื่อนต่างๆ กว่า 10,000 ตู้
โดยนับเป็นกลุ่มที่ DSI ยังไม่เคยดำเนินคดีมาก่อน อาทิ กลุ่มนายทุนชาวไทยชาวจีน, บริษัทชิปปิ้งเอกชน, หน้าเสื่อ, เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ซึ่งพบว่ามีการลักลอบนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง เนื้อวัวแช่แข็ง รวมถึงชิ้นส่วนไก่ ซึ่งเราจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
ขณะที่ พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่าในกลุ่มคดีพิเศษที่ 126/2566 พบกลุ่มที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น 9 บริษัท โดยเป็นกลุ่มเดิมที่ DSIเคยดำเนินการทางคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว และได้นำตู้คอนเทนเนอร์ออกไปจัดจำหน่ายเรียบร้อย ประกอบด้วย 1.บริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด, 2.บริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติกส์, 3.บริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟูด, 4.บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด, 5.บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด, 6.บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด, 7.บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, 8.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์ และ 9.ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช มีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา รวมถึงอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนการนำเข้าและส่งออก รวมแล้วอาจมากกว่า 10 ราย เพราะในคดีก่อนหน้านี้ก็มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกว่า 13 ราย
โดยในกลุ่มคดีพิเศษที่ 127/2566 คาดการณ์ว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องจากหลายแวดวงจำนวนมาก และได้มีการแบ่งหน้าที่กันในทีมเพื่อไปตรวจสอบว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงได้ประสานไปยัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอตรวจสอบเส้นทางการเงิน เนื่องจากพบว่าในกลุ่มนี้ได้มีการโอนเงินออกไปยังบริษัทจำหน่ายชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่เเข็งในต่างประเทศ
อีกทั้งมั่นใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหลายรายแน่นอน เพราะจำนวนตู้คอนเทนเนอร์นั้นมากกว่า 10,000 ตู้ ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว และชิ้นส่วนไก่ อย่างไรก็ตามกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่ DSI ดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้อาจมาเกี่ยวข้องด้วย แต่จะต้องดูด้วยว่ากลุ่มที่กระทำผิดได้ใช้เจ้าหน้าที่รัฐรายใดบ้าง เพราะที่ผ่านมาดีเอสไอได้ประจักษ์พยานสำคัญในคดีเข้าให้ข้อมูลพอสมควร เราจึงพบว่าจะมีหน้าที่รัฐรายใดบ้าง
ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า มูลค่าความเสียหายในคดีพิเศษที่ 127/2566 เบื้องต้นพบมีมูลค่ากว่า 6,000 – 7,000 ล้านบาท เพราะหากคำนวณจากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์กว่า 10,000 ตู้ ความเสียหาย 1 ตู้ ตกประมาณ 1,000,000 บาท ส่วนจำนวนตู้คอนเทเนอร์จะเป็นสินค้าประเภทใดบ้างอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ทั้งนี้แน่ชัดว่ามีการสำแดงเท็จจริงส่วนหลังจากนี้ตลอดสัปดาห์จะเชิญพยานเข้าให้ถ้อยคำ 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย และบริษัทชิปปิ้งเอกชน 2 ราย ซึ่งได้มอบหมายให้ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย ส่วนอีก 2 สำนวนคดีที่เตรียมส่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ได้เสนอให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี DSI ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ ตรวจสอบแล้ว คาดการณ์ว่าภายในสัปดาห์นี้จะนำส่งได้
ขณะที่วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นคดีใหม่อีก 2 คดี ที่เน้นตรวจสอบการนำเข้าและวิธีการนำเข้า โควต้าที่แต่ละบริษัทได้รับ และบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทยอยสอบเข้ามาให้ปากคำ อีกทั้งเรื่องการทำลายพยานหลักฐาน ยังไม่พบ เพราะทุกอย่างจะปรากฎด้วยพยานหลักฐาน เช่น ใบบีแอล Bill of Lading (B/L) หรือที่เรียกกันว่าใบตราส่งสินค้า และหลักฐานการเคลื่อนย้ายต่างๆ
ทั้งนี้เนื่องด้วยเป็นตู้ที่ออกไปแล้วจึงจะใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี คือ GPS TRACKING เพื่อตรวจสอบว่ารถขนสินค้าได้ออกจากท่าเรือต่างๆ ไปหยุดที่จุดไหน และแต่ละจุดนานเท่าใด ซึ่งถ้าพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใครบ้างก็จะไม่ละเว้นพร้อมดำเนินคดีทั้งหมด ซึ่งในกลุ่ม 10,000 กว่าตู้นี้ พบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 หน่วย คือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง
นอกจากนี้ต้องไปตรวจสอบว่ามีใครบ้างระดับใด ส่วนนักการเมือง ต้องตรวจสอบเช่นเดียวกันว่าจะเชื่อมโยงถึงระดับอธิบดีกรมหรือรัฐมนตรีหรือไม่ ทุกอย่างต้องดูพยานหลักฐานประกอบคำให้การของพยานและผู้ต้องหาทั้งหมดก่อน