สมรภูมิค้าปลีกแข่งเดือด! “ยักษ์ใหญ่” แห่ผุด “ห้างใหม่” เขตทำเลทอง
“กลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่” อัดเม็ดเงินแสนล้านปี 2567 ลุยเปิดห้างใหม่เพื่อสยายปีกธุรกิจ เดินหน้ารุกพื้นที่ทำเลทอง ทั้งกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด รับเศรษฐกิจฟื้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมรภูมิธุรกิจค้าปลีกไทยใต้ปีกทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ ยังคงร้อนฉ่าจากการอัดเม็ดเงินก้อนโต ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท เพื่อลงทุนพลิกโฉมครั้งใหญ่ ปักหมุดทำเลใหม่ เดินหน้าขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองรองที่เริ่มคึกคัก
โดยหลังจากกลุ่มเซ็นทรัล ส่งท้ายปี 2566 ด้วยการเปิด “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” บนถนนราชพฤกษ์ มูลค่า 3,600 ล้านบาท มีพื้นที่ขาย 32,000 ตารางเมตร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังเดินเครื่องโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งประกาศทุ่มเงินกว่า 14,000 ล้านบาท เข้าไปลงทุนในเมืองรองสองแห่งที่นครสวรรค์ และนครปฐม เปิดประตูการค้าสู่ภาคกลางและตะวันตก
สำหรับสาขาในนครสวรรค์ มีมูลค่าโครงการ 5,800 ล้านบาท ที่ดิน 42 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า , โรงแรม 200 ห้อง , คอนโดมิเนียม และ Urban Park ขนาดใหญ่ 2 ไร่ โรงพยาบาลสินแพทย์ประเดิมวันที่ 31 มกราคม 2567 เปิด “เซ็นทรัลนครสวรรค” งบลงทุน 4,500 ล้านบาท มีพื้นที่ขาย 29,000 ตารางเมตร
ถัดไปคาดว่าในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ถึงคิว ”เซ็นทรัล นครปฐม” หลังทุ่มงบลงทุน 3,800 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ขาย 25,000 ตารางเมตร ซึ่งที่นี่มูลค่าโครงการ 8,200 ล้านบาท ที่ดินเกือบ 100 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า , โรงแรม 200 ห้อง , คอนโดมิเนียม , หมู่บ้านจัดสรร และ Urban Park ขนาดใหญ่ 4 ไร่
นอกจากนี้ ยังมี ”เซ็นทรัลกระบี่” ด้วยงบลงทุน 4,500 ล้านบาท เนื้อที่ 40 ไร่ มีพื้นที่ขาย 22,000 ตารางเมตร พร้อมเปิดในไตรมาส 4 ของปี 2567 ตามมาด้วย ”โรบินสันไลฟ์สไตล์ นครพนม” ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยเตรียมเปิดตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 และ ”โรบินสันไลฟ์สไตล์ หนองคาย” งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวในปี 2567
อีกทั้งจัดคิวรีโนเวตศูนย์การค้าเดิมอีกหลายแห่งให้ทันสมัย รับรถไฟฟ้า และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ , เซ็นทรัล บางนา , เซ็นทรัลปิ่นเกล้า , เซ็นทรัลเชียงใหม่ , เซ็นทรัลขอนแก่น และเซ็นทรัลพัทยา
อย่างไรก็ตาม แต่ที่น่าจะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่คือ เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ ซึ่งกำลังนับถอยหลังทุบทิ้งวันที่ 31 มกราคมนี้ เพื่อสร้างใหม่ ภายใต้โมเดลมิกซ์ยูส โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
ทั้งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ ปี 2567 โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี ด้วยงบลงทุน 135,000 ล้านบาท เพื่อขยายโครงการครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับความเคลื่อนไหวของ ”กลุ่มเดอะมอลล์กรุ๊ป” ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นปีทอง เพราะอวดโฉมห้างใหม่ถึง 3 แห่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยวันที่ 1 ธันวาคม เปิด ”ดิ เอ็มสเฟียร์” หลังทุ่มสรรพกำลังเงินลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายอาณาจักร “ดิ เอ็ม ดิสทริค” บนถนนสุขุมวิท บิ๊กโปรเจ็กต์ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 แห่ง ได้แก่ ดิ เอ็มโพเรียม , ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์ สู่ย่านช้อปปิ้งระดับเวิลด์คลาสในรัศมีติดรถไฟฟ้าบีทีเอสพร้อมพงษ์ ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
โดยถัดมาวันที่ 8 ธันวาคม ได้อวดโฉมใหม่ “เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์” สาขาบางกะปิ ส่วนสาขาบางแคเตรียมเผยโฉมในเร็วๆนี้ หลังทุ่มเม็ดเงิน 30,000 ล้านบาท ยกเครื่องใหม่ในรอบ 28 ปี ปั้นเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ”เดอะมอลล์” ได้ปรับโฉมศูนย์การค้าเดอะมอลล์เป็นเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน , ท่าพระ , บางกะปิ และบางแค ยังเหลือเดอะมอลล์โคราช ส่วนเดอะมอลล์รามคำแหง อยู่ระหว่างทำแบบพัฒนาโครงการ รับรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยคาดว่าจะสรุปแผนลงทุนโครงการได้ภายในปี 2567 รวมถึงเร่งเครื่องก่อสร้างโครงการ “แบง ค็อก มอลล์” มูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาท บนถนนบางนาตราด ซึ่งมีเนื้อที่เป็น 100 ไร่ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569-2570
ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ต ”บิ๊กซี-โลตัส” ธุรกิจภายใต้อาณาจักรของเจ้าสัวเบียร์ช้าง และเจ้าสัวซีพี ที่อัดเม็ดเงินก้อนโตพลิกโฉมสู่ไลฟ์สไตล์มอลล์ เพิ่มพื้นที่แฮงค์เอาต์ พักผ่อน รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม โดยในแผนของบิ๊กซี ที่ดำเนินงานโดยบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ในปี 2566 ระบุใช้งบ 10,000 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ซึ่งในนี้เท 2,000 ล้านบาท รีโนเวต 10-15 สาขาเดิมให้ทันสมัย เป็น “บิ๊กซีเพลส” (Big C Place)
โดยประเดิมสาขาลำลูกกา เป็นแห่งแรก ล่าสุดกำลังเร่งพลิกโฉม ”บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า รัชดาภิเษก” วงเงิน 500 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ โดยที่รัชดาฯ นอกจากจัดเลย์เอาท์พื้นที่ใหม่ ทั้งโซนสินค้า ร้านอาหาร ยังเพิ่มบิ๊กซี มินิ และมุมของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ”บิ๊กซี” มีร้านค้ารวม 3,184 ร้านค้า มีพื้นที่เช่ากว่า 1 ล้านตารางเมตร แยกเป็นร้านขนาดใหญ่ จำนวน 1,718 ร้านค้า ร้านค้ารูปแบบอื่นๆ จำนวน 1,466 ร้านค้า และมีเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์ เซ็นเตอร์ , บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า , บิ๊กซี เพลส , บิ๊กซี มาร์เก็ต , บิ๊กซี ฟู๊ดเพลส , บิ๊กซี ดีโป้ , บิ๊กซี มินิ และบิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส รวมถึงธุรกิจตลาดโอเพ่นแอร์ อย่างตลาดทิพย์นิมิตร , ตลาดครอบครัว , ตลาดเดินเล่น และร้านค้าอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟวาวี , ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส์ , ร้านขายยาเพรียว และร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม “โดนใจ”
ด้านส่วนของ ”โลตัส” รีโมเดลใหม่จากไฮเปอร์มาร์เก็ตธรรมดา สู่ “สมาร์ทคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์” เพิ่มพื้นที่ใหญ่ขึ้นเท่ากับศูนย์การค้าขนาดกลาง ด้วยพื้นที่ 30,000-40,000 ตารางเมตร เมื่อปี 2566 ใช้เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท ครบถ้วนทั้งเปิดสาขาใหม่ ปรับปรุงและขยายพื้นที่สาขาเดิม รวม 31 แห่งทั่วประเทศ
โดยจำนวนนี้มี 7 สาขาสร้างใหม่ในจังหวัดท่องเที่ยวหรือหัวเมืองใหญ่ เช่น ยะลา อีก 24 สาขา ขยายพื้นที่เดิมให้ใหญ่ขึ้นเป็น 30,000 ตารางเมตร เช่น เพิ่ม Lotus’s Eatery ศูนย์รวมอาหารทุกประเภท ประเดิม 4 สาขาที่ปากช่อง , อุดรธานี , พัฒนาการ และเอกมัย-รามอินทรา ส่วนที่เหลือเป็นการรีโนเวต เช่น บางกะปิ และลาดพร้าว ซึ่งตามแผนจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2567-2568
ทั้งนี้ ”เจ้าสัวซีพี” ยังผุดโมเดลใหม่ Hybrid Wholesale เป็นการผนึกจุดแข็งห้างในเครือ ระหว่าง ”แม็คโคร” ผู้นำค้าส่งดำเนินการโดยบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT และ ”โลตัส มอลล์” ที่เป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ส่งท้ายปี 2566 โดยประเดิมเปิด 2 สาขา โดยสาขาแรกที่สมุทรปราการ ต่อด้วยสาขาพรหมนิมิต จ.นครสวรรค์ เป็นสาขาที่สอง เดินหน้าคู่ขนานไปกับพลิกโฉมแม็คโครสาขาที่คู่แข่งเข้าไปตีตลาด เช่น สาขาศรีนครินทร์ , สาขาเชียงใหม่ ซูเปอร์ไฮเวย์
ด้าน ”ฟู้ดแลนด์” เจ้าตลาดค้าปลีก 24 ชั่วโมง หลังเงียบไปหลายปี เริ่มกลับมาเดินหน้าลงทุนเปิดสาขาใหม่ปีละ 2-3 สาขา โดยเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ซึ่งล่าสุดปี 2566 ได้ปักหมุดทำเลกลางเมือง ในโครงการ ”พาร์คสีลม” เป็นสาขาที่ 24 ด้วยเงินลงทุน 60 ล้านบาท และสาขาที่ 25 ย่านสายไหมในคอมมูนิตี้มอลล์โครงการ “ไอคอน 56” เงินลงทุน 50 ล้านบาท ส่วนปี 2567 เตรียมเงินลงทุน 140 ล้านบาท เพื่อเปิด 2 สาขาใหม่ รวมทั้งรีโนเวตสาขาลาดพร้าว และหัวหมาก
รวมถึงช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สมรภูมิการแข่งขันเริ่มคุกรุ่นมากขึ้น เมื่อมีค้าส่งน้องใหม่ “GO Wholesale” (โก โฮลเซลล์) ของกลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ในเครือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ที่ส่งโมเดลใหม่มาชิมลางตลาด 4 สาขา ได้แก่ ศรีนครินทร์ , เชียงใหม่ , นิคมอมตะนคร และพัทยาใต้ โดยแต่ละสาขามีขนาดพื้นที่ 7,000-8,000 ตารางเมตร และสินค้ากว่า 20,000 รายการ
สำหรับปี 2567 เตรียมเปิดอีกหลายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ เดือนพฤษภาคมเปิดสาขารังสิตโซนเหนือกรุงเทพ เนื้อที่กว่า 20 ไร่ ใกล้กับโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต รวมถึงสาขาพระราม 2 ซึ่งปรับพื้นที่ท็อปส์คลับให้เป็น ”โก โฮลเซลล์” โดยกลุ่มเซ็นทรัลวาดแผน 5 ปี จะใช้เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท ผุด 50 สาขา และมีรายได้ 60,000-70,000 ล้านบาท