หุ้นมือถือ พลวัต 2015

ปี 2559 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังผลการประมูลใบอนุญาตคลื่นโทรคมนาคม 4G ใน 2 ย่านความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz รวม 4 ใบคือ โครงสร้างธุรกิจมืดถือเปลี่ยนไปอย่างหยาบดังนี้คือ


ปี 2559 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังผลการประมูลใบอนุญาตคลื่นโทรคมนาคม 4G ใน 2 ย่านความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz รวม 4 ใบคือ โครงสร้างธุรกิจมืดถือเปลี่ยนไปอย่างหยาบดังนี้คือ

– ผู้ประกอบการคลื่น 2G ที่เป็นระบบสัมปทาน นับวันจะถอยหลังไปสู่การปิดฉากธุรกิจ เพราะหมดยุค ด้วยเหตุผลคือ เครื่องลูกข่ายที่รองรับจะใช้การไม่ได้อีกต่อไป ต้องเปลี่ยนมาเป็นเครื่องรับแบบ 3G และ 4G แทน ทำให้ผู้บริโภคหายไป

–  ใบอนุญาต 3G จำนวน 9 ใบที่ประมูลไปเมื่อ 2 ปีก่อนในกำมือ 3 ค่ายใหญ่ จะยังขยายตัวไปจนเครือข่ายครบทั่วประเทศ และเป็น “วัวให้น้ำนมทองคำ” สำหรับผู้ให้บริการหรือโอเปอเรเตอร์ต่อไปอีกนานนับสิบปีเศษ ไม่มีการแข่งขันรุนแรงอะไร และยังได้รับประโยชน์บางส่วนจากการยกเลิกคลื่น 2G ด้วย

 – ใบอนุญาต 4G จำนวน 4 ใบ คือสมรภูมิการแข่งขัน ใหม่ที่มีต้นทุนสูง และมีการแข่งขันเข้มข้นกว่าเดิม เพราะมีคู่แข่งใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น 1 ราย ในขณะที่คู่แข่งขันเดิมในตลาดที่ไม่ได้รับใบอนุญาตหรือได้ไม่เพียงพอ จะต้องเร่งปกป้องตลาดอย่างเต็มที่

จากนี้ไป ตลาดโทรมือถือไทย จะเข้าสู่ระบบนิเวศน์ธุรกิจใหม่ ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่บรรยากาศของการแข่งขันที่เข้มข้น จากตลาดที่ใช้เสียง ไปสู่ตลาดข่าวสารที่มากกว่าเสียง โดยมีคู่แข่งขันมากกว่าเดิม

สภาพของตลาดเช่นนี้ จากมุมผู้บริโภค คือตลาดที่เปิดกว้างให้ทางเลือกมากขึ้น เพราะไม่ต้องพึ่งพาความภักดีต่อโอเปอเรเตอร์เจ้าใด และตราสินค้าใด เนื่องจากเกิดทางเลือกใหม่ตลอดเวลา

ส่วนในมุมของผู้ประกอบการ โจทย์ที่ท้าทาย มี 2 ด้านคือ การรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ในกำมือด้วยต้นทุนที่เหมาะสม กับการรักษาความสามารถในการทำกำไร (วัดจากอัตรากำไรก่อนภาษีและอื่นๆ หรือ EBITDA  และอัตราเงินปันผล) ของกิจการให้ได้เท่าเดิมก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมา บริษัทโทรมือถือของไทยในระบบสัมปทานและใบอนุญาต มีอัตรากำไรในรูป EBITDA ที่ระดับดีมากคือ 30-44% ต่อปี  และมีอัตราเงินปันผลที่ระดับ 4-7% ต่อปี ถือว่าโดดเด่นอย่างมาก และยังมีอัตราเติบโตของธุรกิจปีละ 5-6% แต่จากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ว่ามองจากมุมของนักวิเคราะห์ หรือมุมของการแข่งขัน

หากถือเอามาตรฐาน EBITDA ของบริษัทโทรมือถือในตลาดเกิดใหม่เอเชียที่เฉลี่ย 42% ในปี 2558 ผู้ประกอบการไทยในปีนี้ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจะต้องสามารถสร้างอัตรากำไรจาก EBITDA ที่เท่ากับหรือมากกว่านั้น

หากต่ำกว่าระดับดังกล่าว ก็เป็นที่คาดหมายล่วงหน้าได้เลยว่า ราคาหุ้นจะต้องร่วงลงไปอย่างแน่นอน และที่สำคัญ ต่างชาติจะเมินหน้าหนีหุ้นสื่อสารรายที่ “สะดุด” ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานไปเลยทั้งลูกค้า ส่วนแบ่งตลาด และรายได้ รวมทั้งกำไร จนกว่าจะกลับมาให้ได้อีกครั้ง

ที่ต้องระมัดระวังว่าจะทำไม่ได้ เพราะว่า การเติบโตของธุรกิจจากนี้ไปในไทย จะไม่ใช่การเติบโตเชิงปริมาณอีกต่อไปแล้ว เพราะจำนวนเลขหมายโทรมือถือประมาณ 70 ล้านราย บอกให้รู้ว่าตลาดนี้เริ่มเต็มเชิงปริมาณแล้ว แต่ต้องเติบโตด้วยคุณภาพแทน

ความสำเร็จของผู้ประกอบการในธุรกิจจากนี้ไปจึงอยู่ที่การทำให้ผู้บริโภคยกระดับการใช้จากแบบธรรมดามาสู่แบบพรีเมียมมากขึ้น ใครสามารถรักษาการเติบโตของรายได้ และกำไรต่อไปได้จะยึดครองตลาดต่อ ใครล้มเหลว จะต้องออกจากตลาดไป

รายได้หลักของธุรกิจนี้ มี 2 ส่วนที่ประกอบกันคือ (1) รายได้จากการให้บริการทั้งในรูปบริการเสียง กับ บริการข้อมูลที่มากกว่าเสียง  (2) รายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์  โดยรายได้อย่างแรกสำคัญกว่าอย่างหลังเสมอ

 ในคลื่นแบบ 3G ที่ค่าใบอนุญาตค่อนข้างต่ำมาก และมีคู่แข่งแค่ 3 ราย ความสามารถทำกำไรในส่วนนี้จะมีต่อไป แต่จะเติบโตช้าลง และอาจจะถูกถ่วงด้วยการแข่งขันในใบอนุญาต 4G ที่เข้มข้นมากขึ้น

บทเรียนในหลายประเทศนับแต่เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินเดีย และสแกนดิเนเวีย ยืนยันว่า 3 ปีแรกของธุรกิจ 4G นั้น ส่วนแบ่งของผู้ใช้บริการ 4G ในตลาดรวมจะไม่มากนัก ไม่เกิน 20% ของตลาดรวม แต่อัตราเติบโตกลับน่าตื่นตามากเพราะมากถึงเฉลี่ยปีละ 100-150%  และยิ่งมีผู้เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้นมากเท่าใด การแข่งขันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำรายได้และกำไรของผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อเท็จจริงเช่นนี้ เป็นที่มาของการที่นักวิเคราะห์ เกือบทุกสำนักของไทยมีมุมมองต่ออนาคตของหุ้นมือถือในปีหน้าและต่อไปในเชิงลบอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะคงจะไม่มี “ข้อยกเว้นที่มหัศจรรย์” สำหรับตลาดไทยที่จะเกิดปรากฏการณ์ที่ต่างจากตลาดอื่นๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

มีตัวอย่างในญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ที่เป็นรูปธรรม

เดิมในญี่ปุ่น มีผู้ให้บริการ 3G จำนวน 4 รายหลัก คือ  NTT DoCoMo, KDDI, Vodafone Japan และ Softbank Mobile แต่การแข่งขันที่รุนแรง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญเมื่อผู้ประกอบการอันดับ 3 มีปัญหาการเงินจากการสูญเสียลูกค้า และขาดทุนหนัก จึงถูกรายที่ 4 ซื้อกิจการไป แล้วรายที่ 4 ก็กระโดดโตทางลัดขึ้นเป็นอันดับ 2 แทน และตลาดเหลือผู้แข่งขันแค่ 3 รายหลักโดยสมรภูมิใหม่คือ 4G ที่เติบโตเร็วมาก

ในจีน เนื่องจากนโยบายถือเป็นธุรกิจเพื่อความมั่นคงของรัฐ ตลาดมือถือ 1.1 พันล้านเลขหมาย จึงถูกจำกัดเอาไว้ที่ผู้ประกอบการเพียงแค่ 3 ราย ซึ่งได้รับสิทธิ์ประกอบธุรกิจโทรศัพท์มีสายพร้อมกันด้วย เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจเท่านั้นคือ China Telecom, China Unicom และ China Mobile  โดยไม่มีค่าใบอนุญาต แต่รัฐบาลรับรู้ปันผลจากกำไรอู้ฟู่ของทั้ง 3 รายนี้แต่ละปีแทนโดยล่าสุดมีลูกค้าในธุรกิจโทรศัพท์มีสาย 300 ล้านเลขหมาย และมือถือ 1.1 พันล้านเลขหมาย ซึ่งยังไม่หยุดเติบโต และไม่มีปัญหาความสามารถในการทำกำไร

ส่วนอินเดีย ตลาดโทรมือถือ พัฒนาเป็น 3G เต็มรูปไปแล้ว โดยมีผู้บริโภค 1 พันล้านเลขหมาย เป็นตลาดอันดับสองของโลกรองจากจีน แต่การแข่งขันเข้มข้นรุนแรงที่สุดในโลก เพราะรัฐบาลอินเดียออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบหลายสิบรายแข่งขันกัน ผลลัพธ์คือเกิดการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งตลาดกันไร้รูปแบบเป็นปรากฏการณ์ใหม่เรียกว่า ความเสี่ยงจากกฎกติกา หรือregulatory risk ขึ้นมา

เหตุผลหลักคือการทำสงครามราคา และบริการจนกระทั่งอัตรากำไรต่ำที่สุดในโลก ถึงขั้นปีล่าสุดที่ผ่านมามีตัวเลขเฉลี่ยของ EBITDA ติดลบระหว่าง 35-50% จึงไม่ต้องพูดถึงกำไรสุทธิของบริษัท ราคาหุ้น หรือ ปัญหาการชำระหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหลายว่าจะยุ่งเหยิงแค่ไหน

เมื่อรัฐบาลอินเดียกำลังจะออกใบอนุญาต 4G ใหม่ปีนี้ ซึ่งมีคนประเมินว่า ตลาดนี้จะมีมูลค่ามากถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีแรก และจะโตแบบเดียวกับตลาดอื่นๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อน ปรากฏว่ามีรายใหม่ที่พร้อมจะกระโดดเข้าแข่งขันคือ Reliance Jio Infocomm Ltd ทำให้วงการสะเทือนไปเลย เพราะทำให้กำไรเจ้าตลาดเดิมๆ ที่ติดลบอยู่แล้ว มีโอกาสติดลบมากขึ้น

ล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดระดับเครดิต ประกาศให้ลดระดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของธุรกิจมือถืออินเดียลงเฉลี่ยเป็นติดลบ จากระดับเดิมมีเสถียรภาพ เพื่อสะท้อนความเลวร้ายของการแข่งขัน และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น

กรณีศึกษาที่แตกต่างกัน ใน 3 ประเทศดังกล่าว เป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะต้องนำมาเปรียบเทียบเพื่อพิจารณา จะได้ไม่แทงหวยผิดซ้ำอีก

Back to top button