กรมราชทัณฑ์ ร่อนจดหมายแจง “ทักษิณ” อยู่รพ.ตำรวจเกิน 120 วัน
กรมราชทัณฑ์ แจงปม “ทักษิณ ชินวัตร” รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เกินระยะเวลา 120 วัน ยันแพทย์ต้องติดตามอาการใกล้ชิดจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต หวั่นเกิดภาวะแทรกซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 ม.ค. 67 กรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจว่า ตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 โดยพบว่านายทักษิณ มีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าโดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น
“กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้นายทักษิณ ชินวัตร ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต”
เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวสถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป
“อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที”
โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขัง พึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และตามจรรยาบรรณของแพทย์
ทั้งนี้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด