CMO พิพาท AO Fund
ถ้าเอ่ยชื่อกองทุน Advance Opportunities Fund (AO Fund) และ Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1) นักลงทุนน่าจะพอผ่านหูผ่านตามาบ้าง
ถ้าเอ่ยชื่อกองทุน Advance Opportunities Fund (AO Fund) และ Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1) นักลงทุนน่าจะพอผ่านหูผ่านตามาบ้าง ขณะที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลาย ๆ แห่งคงคุ้นมือกันดี เพราะเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีคุณูปการเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับบจ.ในยามที่ยากลำบาก โดยเฉพาะบจ.ขนาดกลางและเล็ก
รูปแบบการเข้ามาช่วยเหลือของ AO Fund และ AO Fund 1 ก็คือ การมาซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพที่บจ.นั้น ๆ จัดสรรให้แบบเฉพาะเจาะจง หรือ PP ภายใต้จำนวนเงิน เงื่อนไข และสัญญาที่แตกต่างกันไป…ทำให้บจ.ได้เงินก้อนมาเติมสภาพคล่องเป็นเงินทุนหมุนเวียน นำไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการใหม่ การควบรวมกิจการ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ก็แล้วแต่ความจำเป็น
ที่ผ่านมา มีบจ.ขนาดกลางและเล็กหลายแห่งที่ใช้บริการทางการเงินจาก AO Fund และ AO Fund 1 ไล่กันแทบไม่หวาดไม่ไหว เท่าที่พอนึกออก ก็มีบริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ RICH, บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI, บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO, บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JCKH, บริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA
บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL, บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN, บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ UREKA, บริษัท พีพี ไพร์ม จํากัด (มหาชน) หรือ PPPM, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP, บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JCK
บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH, บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND, บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP รวมทั้งบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO
ดังนั้น ถ้าจะยกให้ AO Fund และ AO Fund 1 เป็น “กองทุนพ่อพระยามยาก” ของบจ.ขนาดกลางและเล็ก ก็คงไม่ผิดน่ะสิ..!!
แต่จาก “กองทุนพ่อพระยามยาก” ดูท่าในสายตาของ CMO น่าจะเป็นตัวร้ายไปแล้วกระมัง เพราะไม่รู้อีท่าไหน…เกิดข้อพิพาทระหว่างกันซะงั้น..!?
ที่มาที่ไปของข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก AO Fund และ AO Fund 1 อ้างว่า CMO ผิดสัญญาการจ่ายชำระค่าธรรมเนียมในการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จึงไปยื่นคำร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้บริษัทจ่ายชำระค่าธรรมเนียมในการออกหุ้นกู้จำนวน 7.5 ล้านบาท ซึ่งคิดจากค่าธรรมเนียม 5% ของจำนวนเงิน 150 ล้านบาท และให้ชำระคืนหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปี
ในมุม CMO ก็อ้างว่าบริษัทได้รับเงินจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพชุดที่ 1 แค่ 50 ล้านบาท จากวงเงิน 150 ล้านบาท ดังนั้นค่าธรรมเนียม 5% จึงควรเรียกชำระเพียง 2.5 ล้านบาท เท่านั้น
ใครถูก…ใครผิด อันนี้มิอาจทราบได้ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2567 สถาบันอนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์มีคำตัดสินให้ CMO ต้องจ่ายเงินต้นของหุ้นกู้จำนวน 50 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระให้กับ AO Fund และ AO Fund 1
แต่หนังเรื่องนี้ยังไม่มีตอนจบนะ…เนื่องจากคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ไม่ใช่กฎหมายไทย จึงไม่มีผลบังคับใช้ในราชอาณาจักรไทย…ดังนั้น AO Fund และ AO Fund 1 จึงต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลไทยในการบังคับใช้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการสิงคโปร์เสียก่อน จึงจะบังคับให้ CMO ชำระเงินตามคำพิพากษาได้
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า ศาลไทยจะเขียนตอนจบให้กับ CMO ยังไง..? ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ๆ แหละ ในระหว่างนี้ CMO ก็คงหาช่องทางสู้คดีกันต่อไป
แหม๊…คิดว่า CMO จะเข้าตาจนซะแล้ว…
ส่วนข้อคิดของเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า “บทพ่อพระ” บางครั้งอาจกลายเป็น “บทตัวร้าย” ก็ได้นะ
ฉะนั้นอย่าได้ชะล่าใจไปเชียวล่ะ..!?
…อิ อิ อิ…