พาราสาวะถี
ตลอดสัปดาห์นี้ เศรษฐา ทวีสิน ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ในการเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม
ตลอดสัปดาห์นี้ เศรษฐา ทวีสิน ปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ในการเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมการประชุม ซึ่งในปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ Rebuilding trust นายกรัฐมนตรีของไทยโพสต์ก่อนเดินทางว่า มั่นใจจะสามารถนำประโยชน์กลับมาให้ประเทศและประชาชนคนไทยได้เต็มที่แน่นอน รอดูกันว่าในฐานะเซลส์แมนผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหวังทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาจะเป็นอย่างไร
ในขณะที่ทางนี้ พวกลากตั้งขาประจำก็กำลังสาละวนกับการล่ารายชื่อให้ได้ 84 คน เพื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดย กิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ อ้างว่าได้ชื่อครบแล้ว ส่วน เสรี สุวรรณภานนท์ ก็อ้างว่ามีพวกวิ่งล็อบบี้สกัดไม่ให้มีการลงชื่อ แต่ไม่ยักบอกว่าอีกด้านก็มีพรรคพวกตัวเองไปวิ่งไล่ล็อบบี้ที่จะให้คนร่วมลงรายชื่อทั้งโทรศัพท์ ไลน์ และพูดคุยเพื่อที่จะให้มาร่วมลงชื่อให้ได้เกิน 84 เสียง
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ การกระชับอำนาจสำหรับผู้อยู่ในอำนาจปัจจุบันย่อมเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนท่าทีของพวกลากตั้งส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไป ปัจจัยหนึ่งคือ ผู้มีพระคุณทั้งหลายก็ได้วางมือไปสู่หนทางที่ชอบแล้ว และยากที่จะกลับมามีอำนาจคุ้มกะลาหัวให้อีก ทางที่ดีคือวางเฉยรอเวลาพ้นสภาพกลับบ้านไปพักผ่อนตามวาระอันควรดีกว่า ขณะเดียวกันจำนวนหนึ่งก็มองว่ารัฐบาลเพิ่งเข้าทำงานได้แค่ 3-4 เดือน จึงเป็นการรีบร้อนที่จะจับผิดกันเกินไป
ความจริงเศรษฐาก็บอกแล้วว่าไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะกี่วัน กี่เดือนก็พร้อมที่จะไปตอบ ยิ่งประเด็นของ ทักษิณ ชินวัตร ที่พักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มองจากเงื่อนเวลาหากจะมีการอภิปรายในเดือนมีนาคม ไม่รู้ว่าเวลานั้นเจ้าตัวจะได้รับการพักโทษกลับไปเลี้ยงหลานอยู่บ้านแล้วหรือไม่ หากไทม์มิ่งไม่ได้เป้าหมายที่วางไว้เป็นหลักสำหรับการซักฟอกหนนี้ ย่อมเปล่าประโยชน์ ทำไปทำมาก็จะกลายเป็นวกกลับมาเปลือยธาตุแท้ของพวกที่กุลีกุจอจะยื่นอภิปรายไปเสียฉิบ
อีกเหตุผลที่ สว.ส่วนใหญ่ไม่ร่วมลงชื่อ เพราะในการโหวตเลือกเศรษฐามาเป็นนายกฯ นั้น คนเหล่านี้ก็คือผู้สนับสนุน นั่นหมายความว่า มีการส่งสัญญาณ รับคำสั่ง และเข้าใจทิศทางของการทำงานในวาระที่เหลือกันหมดแล้ว ความเห็นของ วันชัย สอนศิริ น่าจะตรงประเด็นที่สุด สว.กลุ่มใหญ่คือกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ถ้ากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยขยับเท่าไหร่ การขับเคลื่อนในการดำเนินการเรื่องใด ๆ ก็อาจจะไม่ง่ายนัก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าแม้คนเหล่านั้นจะเกษียณกันมาแล้ว แต่บรรดาลิ่วล้อ คนสนิทยังคงมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ ย่อมได้รับการร้องขอด้วยความเข้าใจบริบทของการบริหารที่เปลี่ยนแปลงไป
หากจะมองไปยัง สว.กลุ่มใหญ่ดังว่า ก็แบ่งจำพวกเป็น พวกเป็นกลาง กับ ไม่เห็นด้วยในการยื่นซักฟอก ดังนั้น แม้ว่าพวกขาประจำจะล่ารายชื่อได้ครบ แล้วสามารถเปิดอภิปรายได้ น่าสนใจว่าผู้ร่วมอภิปรายจะหลากหลาย มีประเด็นที่สามารถจะสั่นคลอนเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือของเศรษฐาและรัฐบาลได้หรือไม่ หากเป็นแค่การตัดแปะข่าวเอามาอภิปราย มันก็ไร้ค่า ไม่มีความหมายเหมือนที่พรรคฝ่ายค้านเคยยื่นซักฟอกรัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจนจวนจะหมดสมัยที่ผ่านมา
ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่แค่เข้าบริหารงานยังไม่ถึงครึ่งปีเท่านั้น แม้แต่งบประมาณที่จะใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างงบประมาณปี 2567 ยังไม่ผ่านสภา ถ้าประเมินกันว่าทำงานภายใต้ข้อจำกัดแล้วมีผลงานเท่านี้ ก็น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพในการบริหารงานเสียด้วยซ้ำ การซักฟอกนอกจากจะไม่ได้เป็นการเล่นงานเศรษฐาและคณะแล้ว ยังอาจจะเป็นเวทีที่ช่วยให้รัฐบาลได้แสดงผลงานไปด้วย จึงทำให้เศรษฐากล้าที่จะตอบว่าพร้อมไปชี้แจง
ที่สังคมให้ความสนใจมากกว่าพวกลากตั้งขาประจำ คงเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตมากกว่า หลังได้คำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว วันนี้ (16 มกราคม) จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่มี ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งหัวโต๊ะ เพื่อนำหนังสือที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาพิจารณา รวมถึงอีก 3-4 ประเด็นมาหาข้อชัดเจนให้ถูกต้องตามกฎหมายและรอบคอบว่าสามารถทำได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศวิกฤตหรือไม่
จุดใหญ่ของเรื่องนี้อยู่ที่การแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจกันระหว่างเศรษฐาและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่ออีกฝ่ายยังกระต่ายขาเดียวตามแนวทางที่ได้ประกาศไว้ ประชุมกันไปก็ไม่มีบทสรุป เพราะกฤษฎีกาก็ยืนยันชัดว่า ไม่ได้ไฟเขียวเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มิหนำซ้ำ ยังชงข้อเสนอแนะว่าต้องรับฟังความเห็นรอบด้าน ด้านที่สำคัญก็ดันเป็นทางสภาพัฒน์และแบงก์ชาติ ทั้งตัวเลขจีดีพี และภาวะเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายกู้เงินจะต้องชี้ให้เห็นตรงกันว่าวิกฤต
ฟังจากที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ ยังมองไม่เห็นแนวโน้มในเชิงบวก หากไม่ติดขัดในทางการเมืองจะต้องฟันธงทันที แต่นี่ออกอาการติ๊ดชึ่ง การบอกว่าต้องมีความรวดเร็ว และรอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งสามประการนี้ก็ย้อนแย้งกันในตัว ยิ่งบอกว่าคณะกรรมการมีหน้าที่รับฟังรายงานกระทรวงการคลัง และพิจารณาต่อไปว่าจะมีการตั้งอนุกรรมการหรือไม่ หรือสร้างความเข้าใจ หรือถามในที่ประชุมเห็นตรงกันก็เป็นไปได้
มันคือสัญญาณที่ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ทางตัน เพราะเพื่อไทยยุคใหม่ไม่อยากจะไปเดินชนตอ ถูกเล่นงานเหมือนโครงการจำนำข้าวในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น นอกเหนือจากคณะกรรมการดิจิทัลฯ ชุดใหญ่จะขยับให้ดูมีความเคลื่อนไหวแล้ว ทางบรรดากุนซือทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเริ่มที่จะหาทางออกกันแล้ว หากเดินหน้าไม่ได้จะถอยอย่างไรเพื่อไม่ให้พรรคเสียหาย และต้องหาผู้รับผิดชอบต่อความผิดหวังของประชาชนที่รอโครงการนี้ด้วย