ย้อนรอย 6 ปัจจัยสำคัญกดดันตลาดหุ้นตลอดปี 2558

ย้อนรอย 6 ปัจจัยสำคัญกดดันตลาดหุ้นตลอดปี 2558


บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์(4 ม.ค.) ว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกหลายแห่งปรับตัวลดลงแรง สวนทางกับปี 2557 ที่ค่อนข้างสดใส โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยลดลงมากสุดเป็นลำดับต้นๆ ในภูมิภาค โดยลดลงกว่า 14%  จากปี 2557  แต่นับว่าใกล้เคียงกับตลาดหุ้นหลายแห่งในแถบเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน  ยกเว้นเพียงบางแห่งเท่านั้น  คือญี่ปุ่นและจีน  ที่ยังสามารถประคองตัวในแดนบวกได้ 

ส่วนตลาดหุ้นภูมิภาคอเมริกาปรับลงเล็กน้อย สวนทางกับตลาดหุ้นยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมันที่บวกกว่า 10% ทั้ง 2 เนื่องจาก กระแสการไหลของเงินทุนจากกลุ่มประเทศ Emerging Market ไปยังประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากการใช้มาตรกระตุ้นเศรษฐผ่าน QE ถูกใช้มาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ เหตุการณ์สำคัญที่กดดันตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทย ตลอดปี 2558 สามารถสรุปได้ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา 2558 ยังคงฟื้นตัวอย่างล่าช้า  โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2559   โดยเฉพาะจีน  แม้ในปี 2558 ธนาคารกลาง ได้ลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 1.25%  และลด RRR ไปแล้ว 3 ครั้งรวม 2% (ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่  4.35%, RRR 17.5%) ทั้งนี้เพื่อรักษา GDP Growth ระยะยาวให้อยู่ในระดับ  6.5%  

และท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ล่าช้า แต่ปัญหาภายในสหภาพยุโรปยังมีอยู่ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ที่ยืดเยื้อกว่า 2 เดือนในช่วงกลางปี 2558  ได้ยุติลงด้วยการที่กรีซยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดจากเจ้าหนี้กลุ่ม TROIKA (EU, IMF ECB)   และ ตามมาด้วยการก่อการร้าของกลุ่ม ISIS  เมื่อกลางเดือน พ.ย. เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เมื่อมีการวางระเบิดกรุงปารีส กดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว สะท้อนได้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มยูโรโซน หดตัวลงติดต่อกัน 2 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย โดยรวมทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง  ล่าสุดได้ยืดระยะเวลาในการใช้มาตรการ QE ผ่านการซื้อสินทรัพย์เดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุด ก.ย. 2559 เป็น มี.ค. 2560 (ระยะเวลานานรวม 25 เดือน จาก มี.ค. 2558 – มี.ค. 2560)

2. ความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เป็นครั้งแรกของสหรัฐในรอบ 9 ปี ในที่สุด ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  0.25% ไปอยู่ที่  0.5%  ในการประชุม  15 -16 ธ.ค. 2558   เนื่องจากเห็นว่า ตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวแข็งแกร่ง จนทำให้อัตราการว่างงานล่าสุดลดลงเหลือ 5%  ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดและเป็นไปตามเป้าที่วางไว้   และหนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตลาดบ้านทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันตั้งแต่กลาง 2557 ทั้งนี้แม้ดัชนีภาคการผลิตยังส่งสัญญานการฟื้นตัวอย่างล่าช้าก็ตาม (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของ ISM ยังคงชะลอตัว 5 เดือน) และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ล่าสุด 0.5% yoy (ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 2%)  ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (ในประชุม Fed ที่เกิดขึ้นในปีนี้ 2559)  น่าจะมีการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก  ทั้งนี้ FED  ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายสิ้นปี 2559 จะอยู่ที่ 1.375% (หรือขึ้นอีกราว 0.875% โดยมีการคาดว่าจะขึ้น 4 ครั้ง)  ภายใต้สมมติฐานหลักคือ  GDP Growth  จะเติบโต  2.4% ในปี 2559    และ คาดอัตราการว่างงานจะลดลงมาอยู่ที่  4.7%  ซึ่งจะต้องติดตามผลการประชุมของ FED  ในรอบถัดไป ( 26-27 ธ.ค.  2559)  

3. ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียปี 2558 อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (อ่อนค่าต่อเนื่องจากปี 2557) สาเหตุหลักมาจากปัญหาเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และ ผลกระทบจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)  ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 9% เป็นลำดับที่ 2 รองจากริงกิตมาเลเซียที่อ่อนค่าถึง 18% (ผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงรุนแรงเนื่องจากมาเลเซียมีรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน ซึ่งคิดเป็น 22% ของรายได้ทั้งหมด) เช่นเดียวกับรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าถึง 9% ตามมาด้วยเปโซฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 5% และหยวนอ่อนค่า 4% (หลังจากปรับลดค่าเงินไปเมื่อกลางเดือน ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา)  ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเช่นกัน โดยอ่อนค่า 9%

4. ราคาน้ำมันตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงกว่า 40% จาก 53.54 สู่ 33.47 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ ปรับลดลงกว่า 31% จาก 55.88 สู่ 38.46 เหรียญต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลงกว่า 30% จาก 53.45 สู่ 37.18 เหรียญต่อบาร์เรล เหตุมาจากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากของ supply น้ำมันโลก ทั้งจากการที่ OPEC มีมติไม่ลดกำลังการผลิตในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของ supply กลุ่ม non-OPEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหรัฐ สามารถส่งออกน้ำมันได้ ขณะที่ฝั่ง demand นั้นยังทรงตัว เนื่องจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างจีนยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว บวกกับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันโลก 

5. เงินทุนไหลออกจากเอเชีย  ในปี 2558 ที่ผ่านมาพบว่า กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคถึง 7.4 พันล้านเหรียญ (จากที่เคยซื้อสุทธิราว 2.3 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปี 2557) และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า  ไต้หวันเป็นตลาดเดียวที่ต่างชาติยังคงซื้อสุทธิราว 3.3 พันล้านเหรียญ แต่ถือว่าเป็นการซื้อสุทธิที่น้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ซื้อสุทธิราว 1.3 หมื่นล้านเหรียญ  ส่วนที่เหลือล้วนขายสุทธิ เริ่มจาก เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  ขายสุทธิราว 3.6 พันล้านเหรียญ, 1.6 พันล้านเหรียญ และ 1.2 พันล้านเหรียญ ตามลำดับ  เทียบกับที่เคยซื้อสุทธิในปี 2557 ทั้ง 3 ประเทศ ส่วนตลาดหุ้นไทยต่างชาติได้ขายสุทธิสะสมสูงสุดในภูมิภาคราว 4.4 พันล้านเหรียญ หรือ ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิสะสมที่สูงกว่าปี 2557 กว่า 4 เท่าตัว (ปี 2557 ถูกขายสุทธิสะสมราว 1.1 พันล้านเหรียญ)

ส่วนแนวโน้มในปี 2559 คาดว่าแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยน่าจะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากในปี 2558 นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยออกไปมากแล้ว อย่างไรก็ตามแรงซื้อกลับเข้ามายังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่เป็นรูปธรรมต่อจากนี้  และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่

6. ค่า P/E ปี 2558 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยตลาดหุ้นไทยอยู่ที่บริเวณ 17 เท่า เป็นรองเพียงอินโดนีเซียที่สูงกว่า 17.6 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์มี P/E สูงสุดถึง 19 เท่า สวนทางกับการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ที่มีการชะลอตัวหรือหดตัว โดยตลาดหุ้นไทย EPS Growth หดตัว 1.7% (เนื่องจากมีการบันทึกขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมาก) อย่างไรก็ตามหากอิงดัชนีปัจจุบัน จะพบว่า Expected PER ปี 2559 อยู่ที่เพียง 13.5 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าตลาดประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค อาทิ ตลาดหุ้นจีน 13.9 เท่า, อินเดีย 14.9 เท่า มาเลเซีย 15.3 เท่า, อินโดนีเซีย 15.4 เท่า ส่วนฟิลิปปินส์มี Expected PER แพงสุด 16.8 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นตลาดหุ้นไทยปี 2559 ยังมี EPS Growth สูงสุดถึง 25%

 

ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้ รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ไม่สามารถที่จะยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ได้ ไม่ว่าประการใดๆ บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ทางวิชาการเกี่ยวกับหลักการวิเคราะห์ และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใด ๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button