โบรกเชียร์ซื้อ TU อัพเป้า 20 บาท หลังปลดล็อกขาดทุน “เรด ล็อบสเตอร์”
3 โบรกฯ ยังเชียร์ “ซื้อ” TU ให้ราคาเป้าหมาย 19-20 บาท หลังถอนลงทุน “เรด ล็อบสเตอร์” บันทึกด้อยค่าฯ 18,500 ล้านบาท ในไตรมาส 4/66 ฉุดงบปี 66 มีขาดทุนสูง 14,300 ล้านบาท แต่คาดยังจ่ายปันผลปี 66 ให้ผู้ถือหุ้นได้ 0.57บาท/หุ้น พร้อมชี้เจ็บแต่จบปลดล็อกไม่ต้องบุ๊กขาดทุนเรด ล็อบสเตอร์อีก ยันกำไรธุรกิจหลักปี 67 โตดี!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้ประกาศถอนการลงทุนใน Red Lobster และจะมีการบันทึกด้อยค่าไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว 18,500 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2566 นั้น บริษัทหลักทรัพย์ 3 แห่ง ออกบทวิเคราะห์วันนี้ (17 ม.ค.2567) ต่างมีมุมมองเป็นบวกในระยะยาวต่อกลุ่ม TU พร้อมประสานเสียงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น TU และปรับเพิ่มเป้าหมายราคาหุ้นสูงสุด 20 บาท
โดยบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การที่ TU ประกาศว่าจะมีการตั้งด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวในงบการเงินไตรมาส 4/2566 จากการลงทุนใน Red Lobster (RL) นั้น มองว่าปัจจัยนี้จะช่วยคลายความกังวลของตลาด โดยเห็นอัพไซด์ 10% จากประมาณการกำไรปี 2567 จากการไม่มีการขาดทุนของ RL อีกต่อไป และมองว่าการถอนการลงทุน RL ของ TU เป็นผลบวกต่อบริษัท รวมถึงราคาหุ้นในระยะยาว แม้ว่าจะมีผลกระทบเชิงลบในระยะสั้น ส่งผลให้รายงานขาดทุนสุทธิในงบการเงินไตรมาส 4/2566 และปี 2566 ผู้บริหารประกาศว่าบริษัทจะหยุดบันทึกผลขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับ RL เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 เป็นต้นไป
ดังนั้น จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น TU พร้อมประมาณการกำไรปี 2567 คาดว่าจะมีอัพไซด์ราว 10% (ก่อนการประกาศของ TU คาดไว้ว่าจะเห็นส่วนแบ่งขาดทุนในปี 2567 อยู่ที่ 537 ล้านบาท จากการถือหุ้นใน RL) เนื่องจากประมาณการกำไรคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% ราคาเป้าหมายปี 2567 อิงจากวิธีคิดลดกระแสเงินสด จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 19 บาทต่อหุ้น จากเดิม 17.80 บาทต่อหุ้น
ขณะเดียวกัน คิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ TU จะต้องตัดปัญหาการขาดทุนของการลงทุนนี้ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โดย TU ถือหุ้น 49% ใน RL ผู้ประกอบการร้านอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลกจาก Golden Gate Capital ในเดือน ต.ค. 2559 ซึ่ง TU จ่ายเงิน 575 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 230 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับหุ้น 25% ใน RL และ 345 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับหุ้นบุริมสิทธิเท่ากับการถือหุ้นอีก 24% ทำให้ TU เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน RL ต่อมาในเดือน ส.ค. 2563 Golden Gate Capital ขายหุ้นที่เหลืออยู่ใน RL ให้กับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของ TU และผู้บริหาร RL โดยนับตั้งแต่การซื้อกิจการ TU ได้รับรู้ถึงส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 3,800 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบต่องบการเงินจากประกาศของ TU คาดเบื้องต้นขาดทุนสุทธิปี 2566 จะอยู่ที่ 14,300 ล้านบาท (ก่อนหน้านี้คาดการณ์กำไรไว้ 4,200 ล้านบาท) นอกจากนี้ปัจจุบันมองว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของปีก่อนอยู่ที่ 0.88 เท่า แม้ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนที่ตั้งไว้จะต่ำกว่าข้อกำหนดของ TU ที่ 2 เท่า แต่ยังมีอัตราส่วนอื่นที่ต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อยกเว้นรายการที่ไม่ใช่เงินสดนี้จากการคำนวณอัตราส่วน จะทำให้สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในครึ่งหลังของปี 2566 แม้จะรายงานขาดทุนสุทธิในปี 2566
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า TU แจ้งถอนการลงทุนใน RL หลังจากเข้าลงทุนมาตั้งแต่ปี 2559 โดยปัจจุบันเงินลงทุนทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 18,500 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ถอนการลงทุนเนื่องจาก TU มีการวางแผนการเติบโตไปถึงปี 2573 เพราะจะหันไปเน้นธุรกิจหลักอย่างกลุ่มอาหารทะเลและอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น อีกทั้ง RL มีความต้องการเงินลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถสร้างผลกำไรได้จึงทำให้ TU ตัดสินใจถอนการลงทุนดังกล่าว
โดยมองว่าเจ็บแต่จบ ซึ่งผลดังกล่าวมองว่าเป็นปัจจัยลบระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจาก RL ที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารับรู้เฉลี่ยปีละกว่า 3,600 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนทางบัญชี) แม้จะทำให้มีการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และไม่มีดอกเบี้ยรับเข้ามา (เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท แต่หยุดรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ที่ผ่านมา) แต่รวมแล้วคาดว่าจะเป็นผลบวกมากกว่า
ทั้งนี้ อาจจะมีการทบทวนประมาณการปี 2567 อีกครั้งหลังประกาศผลประกอบการ ซึ่งมองว่าการทำดังกล่าวจะเป็นผลดีระยะยาว จึงคงคำแนะนํา “ซื้อ” เช่นเดิม ให้ราคาเป้าหมาย 19.70 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ ผลกระทบคือ TU จะมีการบันทึกด้อยค่าเงินลงทุนดังกล่าวเข้ามาในช่วง 4/2566 (ทั้งนี้มูลค่าที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับผลขาดทุนของ RL ในงวดไตรมาส 4/2566 และค่าเงินอีกครั้ง) ทำให้ผลประกอบการในงวดดังกล่าวมีโอกาสจะเห็นผลขาดทุนอย่างมาก จากเดิมที่เคยคาดว่าจะมีกำไรประมาณ 1,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากผลขาดทุนเป็นการผิดเงื่อนไขบางส่วนกับทางเจ้าหนี้ ทำให้อาจจะมีผลต่อการจ่ายเงินปันผล แต่ด้วยการที่เป็นรายการที่ไม่ใช่เงินสด ทำให้ TU จะมีการเจรจาผ่อนผันเงื่อนไขกับเจ้าหนี้ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินปันผลได้ (โดยจ่ายจากผลประกอบการที่ไม่รวมรายการด้อยค่าดังกล่าว)
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า TU ประกาศแผนถอนการลงทุนจากการถือหุ้น 49% ใน RL ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารทะเล ในขณะที่บริษัทกำลังมองหาผู้ซื้อจะทำการลดเงินลงทุนทั้งหมดใน RL คิดเป็นมูลค่า 18,500 ล้านบาท และจะบันทึกผลขาดทุนที่ไม่ใช่เงินสดและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 4/2566
โดยถึงแม้จะรับรู้ผลขาดทุน แต่ผู้บริหารคาดว่าจะยังจ่ายเงินปันผลได้ตามปกติ (ต้องรอการอนุมัติยกเว้นเงื่อนไขจากธนาคาร และผู้ถือหุ้นกู้ก่อน) ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 0.57 บาท/หุ้น สำหรับปี 2566 พร้อมมองบวกกับการดำเนินงานครั้งนี้ เพราะการการปรับปรุงการบัญชีที่รับรู้ถึงมูลค่าลดลงของสินทรัพย์ที่เสื่อมค่าไปแล้ว (write down) จะทำให้ TU ไม่ต้องบันทึกผลขาดทุนจาก RL ซึ่งคาดไว้ที่ 1,200 ล้านบาท อีกตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้กำไรจากธุรกิจหลักเพิ่มขึ้น 22.5% ในปี 2567 และเพิ่มขึ้น 18.2% ในปี 2568 ดังนั้นจึงแนะนำ “ซื้อ” พร้อมปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 20 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน ใช้งบไม่เกิน 3,600 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นไม่เกิน 200 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 20 ก.พ. 2567-30 มิ.ย. 2567 (เท่ากับหุ้นละ 18 บาท) เพื่อหนุนราคาหุ้น เพราะผู้บริหารมองว่าราคาหุ้นในปัจจุบันต่ำเกินมูลค่าที่แท้จริง คิดว่าประเด็นนี้จะช่วยประคองราคาหุ้นเอาไว้ ในกรณีที่ราคาหุ้นเกิด correction ขึ้นในระยะสั้น ส่วนราคาเป้าหมายอิงจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ความเสี่ยงหลักอยู่ที่ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยราคาเป้าหมายอิงจาก P/E ปี 2567 ที่ 12.3 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 12.8 เท่า เล็กน้อย เนื่องจากกำไรที่เร่งตัวขึ้น โดยความเสี่ยงหลักอยู่ที่ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ