“ดาวโจนส์” ปิดบวก 202 จุด ขานรับ “หุ้นแอปเปิ้ล” พุ่งแรง
“ดาวโจนส์” ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวก 202 จุด ขานรับ “หุ้นแอปเปิ้ล” พุ่งขึ้นสูง 3% ขณะที่หุ้นกลุ่มบริษัทผลิตชิปเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มีการดีตัวขึ้นสูงถึง 10% แรงหนุนจากอุปสงค์ชิป AI คาดสามารถปรับตัวขึ้นอีกมากกว่า 20% ในปี 2567
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (18 ม.ค. 67) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นแอปเปิ้ล ขณะที่ดัชนี S&P500 ดีดตัวขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขานรับแรงซื้อหุ้นบริษัทผลิตชิปและบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งรวมถึงหุ้นอินวิเดีย และหุ้นไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค (TSMC)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,468.61 จุด เพิ่มขึ้น 201.94 จุด หรือ +0.54%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,780.94 จุด เพิ่มขึ้น 41.73 จุด หรือ +0.88% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,055.65 จุด เพิ่มขึ้น 200.03 จุด หรือ +1.35%
ขณะที่หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 3.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 66 หลังจากนักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับเพิ่มน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิ้ลขึ้นสู่ระดับ “Buy” จากเดิมที่ระดับ “Neutral” พร้อมกับคาดการณ์ว่าราคาหุ้นแอปเปิ้ลยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกมากกว่า 20% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ส่วนหุ้น TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปสัญญาจ้างรายใหญ่ของโลกและจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ทะยานขึ้นเกือบ 10% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรและรายได้ในไตรมาส 4/2566 ที่สูงเกินคาด พร้อมกับคาดการณ์ว่ารายได้ในปีงบการเงิน 2567 จะพุ่งขึ้นกว่า 20% โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ชิป AI
นอกจากนี้หุ้นบริษัทผลิตชิปรายอื่น ๆ ได้ดีดตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นอินวิเดีย พุ่งขึ้น 1.9% ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในวันพฤหัสบดี โดยคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่หุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดิไวซ์ (AMD) พุ่งขึ้น 1.6% ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
ทั้งนี้หุ้นบรอดคอม, หุ้นควอลคอมม์ และ หุ้นมาร์เวล เทคโนโลยี ต่างก็พุ่งขึ้นกว่า 3% ส่วนดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia SE Semiconductor Index) พุ่งขึ้น 3.4%
ดัชนี S&P500 ดีดตัวขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยดัชนีปิดที่ระดับ 4,780.94 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยทำไว้ในเดือนม.ค. 2565 เพียง 0.3% เท่านั้น
อย่างไรก็ดีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นปัจจัยกดดันตลาดในระหว่างวัน หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 16,000 ราย สู่ระดับ 187,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด
โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 56% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. ซึ่งลดลงจากที่เคยให้น้ำหนักสูงกว่า 80%
อีกทั้งดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ปรับตัวลง 0.6% และ 1.05% ตามลำดับ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้