INTUCH วันที่ขาด สมประสงค์
วันที่ 1 มกราคม 2559 คือวันแห่งยุคใหม่ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH เพราะมีการผ่องถ่ายอำนาจบริหารจากนายสมประสงค์ บุญยะชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารมานาน 8 ปี เป็นคนอื่น
แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
วันที่ 1 มกราคม 2559 คือวันแห่งยุคใหม่ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH เพราะมีการผ่องถ่ายอำนาจบริหารจากนายสมประสงค์ บุญยะชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารมานาน 8 ปี เป็นคนอื่น
เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก ตามประสามืออาชีพ เพราะครบกำหนดเกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการสรรหาเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่มาทดแทน (ซึ่งยังไม่รู้เป็นใคร คนนอกหรือคนใน) ก็มอบหมายให้มวยแทนอย่าง นายฟิลิป เชียง ซอง แทน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท ให้รักษาการในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
สำหรับนายสมประสงค์แล้ว นี่คือ การ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ในฐานะผู้บริหารมืออาชีพอย่างเต็มภาคภูมิ และถือได้ว่าเป็นช่วงเวลา 8 ปีอันแสนเหนื่อยยาก เพราะ INTUCH ได้ผ่านมรสุมที่หนักหนาสาหัส และเหตุการณ์อันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญโชกโชน แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีกลุ่มบริษัทใดที่จะเผชิญกับมรสุมรุนแรงเท่าอีกแล้วในช่วง 8 ปีนี้ โดยเฉพาะมรสุมทางการเมือง
ดังที่ทราบกันดี ก่อนหน้าวันที่ 23 มกราคม 2549 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทนี้ ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN คือตระกูลชินวัตรที่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในมือ แต่หลังจากวันดังกล่าว หุ้นในมือตระกูลชินวัตร ได้ถูกขายทั้งหมดให้กับกลุ่มเทมาเส็กโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เรียกกันว่า กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติหรือ sovereign wealth fund ที่นำเงินไปลงทุนทั่วโลก
ราคาที่ตระกูลชินวัตรขายขายยกล็อตตอนนั้น คือ 49.25 บาทต่อหุ้น โดยที่ตระกูลชินวัตร ได้เงินจากการขายทั้งหมด 7.3 หมื่นล้านบาท
หลังจากการขาย ตระกูลชินวัตร ตกเป็นจำเลยสังคมและการเมืองในข้อหา “ขายชาติ” และมีแรงเหวี่ยงทางการเมืองพลิกกลับให้ตระกูลนี้สูญสิ้นอำนาจทางการเมืองอย่างจริงจัง เป็นเป้าหมายของกลุ่มคนเกลียดทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตายมาจนถึงปัจจุบัน
สมประสงค์ในฐานะซีอีโอที่รับไม้ต่อจากนายบุญคลี ปลั่งศิริ ที่ถอนตัวจากไปอยู่กับกลุ่มไทยเบฟฯในเวลาต่อมา ต้องเข้ามารับภารกิจอันแสนหนักอึ้งเพราะมุมมองของสังคมไทยยามนั้น ถือว่าหุ้นเครือ SHIN ที่มีบริษัทในเครือ 3 แห่ง คือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ชิน แซทเทลไลท์ (SATTEL) และ ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) พลอยฟ้าพลอยฝน ตกเป็นจำเลยทางสังคมและการเมืองไปด้วย
การเมืองไทยวุ่นวายทีไร หุ้นกลุ่มนี้ มีอันต้องถูกขายทิ้งหนักทุกครั้ง..แปลกแต่จริง
หมดเรื่อง ราคาหุ้นก็วิ่งกลับที่เดิม หรือสูงกว่าเดิม เป็นกิจวัตรที่ทำให้ขาประจำรู้ดี
ในฐานะมืออาชีพ ผู้ยึดกุมคัมภีร์ของปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการระดับโลกอย่าง เคลย์ตัน คริสเตนเซ่น เจ้าของแนวคิด disruptive innovation ที่ถือว่า ตราบใดที่องค์กรธุรกิจใด พยายามสรรค์สร้างนวัตกรรมธุรกิจเร็วกว่าพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ธุรกิจนั้นจะสามารถบงการตลาดและกำหนดทิศทางการแข่งขันได้ ทำให้สมประสงค์ในฐานะผู้กุมทิศทางธุรกิจของกลุ่มนี้ มีงานหนักสาหัสท้าทายอยู่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
ความโดดเด่นทางการบริหารจัดการธุรกิจขององค์กรภายใต้การนำของสมประสงค์ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อจากกลุ่มชิน มาเป็น อินทัช ด้วยเจตนาเพื่อถอยห่างจากการเป็นองค์กรที่พัวพันเข้ากับการเมือง เพราะถือหลักการว่า บริษัทที่ดีนั้นจะต้องบริหารด้วยมืออาชีพ ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มดีขึ้นอย่างดีวันดีคืน
ที่ถือว่าโดดเด่นมากที่สุด เห็นจะเป็นการปรับนโยบายจ่ายปันผลมาเป็นจ่าย 100% ของกำไรสุทธิ ซึ่งทำให้กลายเป็นหุ้นพิมพ์นิยมของนักลงทุนที่ชื่นชอบการซื้อขายหุ้นบลูชิพ
ADVANC กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มาร์เก็ตแคปอันดับ TOP 5 ของตลาดหุ้นไทย แซงหน้าธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง
THCOM ที่เปลี่ยนชื่อใหม่จากเจตนาถอยห่างจากการเมืองแบบไทยๆ จากชื่อเดิม SATTEL กลายสภาพจากหุ้นขาดทุนเรื้อรัง มาเป็นหุ้นที่ล้างขาดทุนสะสมได้หมด และกำไรมากพอจนสามารถจ่ายปันผลได้หลายปีแล้ว
ในขณะที่ CSL ยังคงเป็นหุ้นที่เรื่อยๆ มาเรียงๆกับธุรกิจข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ระดับหัวแถว ในฐานะแขนขาที่ขาดไม่ได้ของกลุ่ม แม้กำไรจะไม่หวือหวา
ผลประกอบการที่โดดเด่นจนทำให้หุ้น INTUCH กลายเป็นบลูชิพที่จ่ายปันผลดีทั้งกลุ่มและมาร์เก็ตแคปโตขึ้น ตามสูตร let profit run จะบอกว่า ไม่ใช่ฝีมือของสมประสงค์ และพวก ก็คง…ดูเบากันเกินไป
ดังนั้น เมื่อเกษียณอายุไปแล้ว การที่กลุ่มอินทัช แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท รวมทั้งยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการในเครืออย่าง ADVANC, THCOM และ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค
สำหรับคนที่ทำงานให้องค์กรธุรกิจมายาวนานมากถึง 23 ปี และอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดมา 8 ปี มองเห็นและร่วมต่อสู้เพื่อแข่งขันในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วงตลอด 2 ทศวรรษเศษ นับแต่ยุคโทรศัพท์บ้าน และ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม มาถึงยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเริ่มเรียนรู้การรับส่งข้อมูลภาพ ดาต้า ผ่านเข้าสู่ยุค 3G และกำลังจะไปสู่การทำงานบนระบบปฏิบัติการ 4G และก้าวไปถึง “บิ๊กดาต้า”….นี่คือ การตอบแทนที่เป็นต้นแบบของบริษัทที่มีธรรมาภิบาลสูงต่ออดีตพนักงานของตนเอง
สมประสงค์อาจจะลงจากเก้าอี้ไปแล้ว แต่ผลงานที่ทำมาในตำแหน่งสูงสุดนาน 8 ปีในกลุ่มอินทัช คือการแผ้วถางทางเรียบให้กับผู้บริหารสูงสุดคนต่อไปของกลุ่ม ให้พ้นจากสภาพของการเป็น “หุ้นการเมือง” และพ้นจากเงา ของทักษิณ ชินวัตร แต่กลายเป็น “วัวที่ให้น้ำนมเป็นทองคำ” ของเทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์เต็มตัว ในฐานะบริษัทจดทะเบียนมหาชนเต็มรูป
ขอปรบมือดังๆ ให้กับคนเก่งที่เพิ่งลงจากเก้าอี้ไป…สมประสงค์ บุญยะชัย
ในวันที่ราคาหุ้น INTUCH กลับมาอยู่ที่ 49.50 บาท เกือบเท่ากับวันที่ทักษิณ ชินวัตรและพวกขายให้กับสิงคโปร์พอดี…แปลกแต่จริง…แม้ว่า โบรกเกอร์หลายสำนักจะยังคงยืนยันว่า ราคาเหมาะสมต้องอยู่ที่เหนือ 80 บาท เท่านั้น