“ส.ผู้ค้าปลีกไทย” ชี้ “ค้าปลีก” ท้ายปี 66 หดตัว วอนรัฐช่วยสินเชื่อ “เอสเอ็มอี”

“สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” เรียกร้องรัฐบาลสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ เอสเอ็มอี หลังธุรกิจค้าปลีกท้ายปี 66 โตน้อย พร้อมเสนอให้ปฏิรูปมาตรการป้องสินค้าข้ามแดนราคาถูกกว่าตลาดในประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้  (19 ม.ค.67) นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index – RSI) ในเดือน ธ.ค 66 เพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบและทุกภูมิภาค จากการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้าและบรรยากาศส่งท้ายปลายปีที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคให้คึกคักในระดับหนึ่ง แต่ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ไตรมาสแรกปี 67 ปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก จากอานิสงส์โครงการ “Easy E-Receipt” และแคมเปญการตลาดช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาภาพรวมตลอดปี 66 ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศพบว่า ยังเป็นการฟื้นตัวแบบไม่สมดุลในลักษณะ K-Shaped โดยส่วนที่ฟื้นตัว คือ กลุ่มห้างสรรพสินค้า, แฟชั่นความงาม, ไลฟ์สไตล์, ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เกต

ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ฟื้นตัว คือ กลุ่มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต และกลุ่มค้าส่งค้าปลีกภูธร ส่วนกลุ่มที่ทรงตัว คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, ตกแต่ง, ซ่อมบำรุง, สมาร์ทโฟน และไอที  ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามภูมิภาคพบว่าเขตกรุงเทพ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดี แต่ส่วนภูมิภาคอื่นๆยังชะลอตัวยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ซึมยาวสะท้อนถึงกำลังซื้อยังคงอ่อนแอ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเสนอแนะแนวทางเพื่อการกระตุ้นภาพรวมค้าปลีกและบริการต่อภาครัฐ อาทิ 1.ลดความเลื่อมล้ำและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในการเข้าถึงสินเชื่อเอสเอ็มอี คือ เปิดตลาดภาคการเงินเสรีให้มีสถาบันการเงินใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านดอกเบี้ย, เปิดเผยเชื่อมโยงข้อมูลทางการการเงินที่โปร่งใสเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้บริการทาง การเงินและผู้ขอสินเชื่อ รวมทั้งใช้ระบบ Risk based management ในการวัดระดับความเสี่ยงของการอนุมัติ การขอสินเชื่อ และเร่งจัดหากองทุน Soft loan ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับเอสเอ็มอีในเงื่อนไขไม่ซับซ้อนเข้าถึงง่ายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน

2.อนุมัติเพิ่มการจ้างงานรูปแบบใหม่ คือ การจ้างงานอิสระ และการจ้างงานประจำรายชั่วโมง โดยกำหนดค่าจ้างตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพิ่มเติมจากการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคปลีกและบริการ อีกทั้งควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน Upskill Reskill ควบคู่ไปด้วย

3.ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจนครอบคลุมทุกกลุ่มด้วยการจัดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว ชูจุดเด่น “ซอฟต์พาวเวอร์” พร้อมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ตามภูมิภาคต่างๆ

  1. สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมด้วยมาตรการป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะการจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างราคาสินค้าเอสเอ็มอีของไทย เช่น การกำหนดให้มีการจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องและมีนโยบายที่ชัดเจนด้านสินค้าและการบริการ เช่น สินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามศีลธรรม รวมถึงปรับรูปแบบการเก็บภาษีออนไลน์เป็นข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง โดยแพลตฟอร์ม ออนไลน์ควรต้องเป็นผู้เก็บภาษีทุกครั้งที่มีการซื้อขาย

นอกจากนี้ ยังมีบทสรุประเด็นเกี่ยวกับ “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและการขอสินเชื่อ” ของผู้ประกอบการที่สำรวจระหว่างวันที่ 18-25 ธ.ค.66 ได้แก่

1.ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น โดย 68% ธุรกิจได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 63% ภาระหนี้เพิ่มขึ้นแต่ยังสามารถชำระได้ตามปกติ แม้ว่าภาระหนี้ที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้น และอีก 5% อาจผิดนัดชำระหนี้ และขอปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงขอยืดเวลาชำระหนี้ ส่วน 32% ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

2.อุปสรรคในการขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินโดย 45% ธุรกิจต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินมากขึ้น แบ่งเป็น 36% สถาบันทางการเงินใช้เวลาพิจารณาสินเชื่อนานขึ้นและปรับ Margin อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น, 6% ได้วงเงินสินเชื่อลดลง, 3% ปรับเงื่อนไขการกู้เข้มงวดมากขึ้น ส่วน 55% ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงสินเชื่อ

Back to top button