“ดาวโจนส์” ปิดบวกเกือบ 400 จุด ขานรับดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่ง
ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกเฉียด 400 จุด ขานรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นแรงเกินคาด
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (19 ม.ค.) และดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ขานรับการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 37,863.80 จุด เพิ่มขึ้น 395.19 จุด หรือ +1.05%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,839.81 จุด เพิ่มขึ้น 58.87 จุด หรือ +1.23% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,310.97 จุด เพิ่มขึ้น 255.32 จุด หรือ +1.70%
โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.7%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.2% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 2.3%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นมากกว่า 2% โดยเป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในดัชนี S&P 500
ส่วนดัชนี Nasdaq ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ หุ้นอินวิเดีย คอร์ป ซึ่งพุ่งขึ้น 4.17% และหุ้นบรอดคอม อิงค์ พุ่ง 5.88%
หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ได้แรงหนุน หลังซูเปอร์ ไมโคร คอมพิวเตอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ พุ่งขึ้น 35.94% หลังเปิดเผยแนวโน้มยอดขายที่แข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดไว้
ตลาดหุ้นสหรัฐปิดพุ่งขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ โดยดัชนี S&P500 ทำลายสถิติสูงสุดครั้งก่อนที่ทำไว้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 ที่ระดับ 4,796.56 โดยตลาดได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 78.8 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 70.2 จากระดับ 69.7 ในเดือนธ.ค.
บรรดาผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ขณะที่คลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.1% ในการสำรวจเมื่อเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.8% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 2.9% ในการสำรวจเมื่อเดือนที่แล้ว
บรรดานักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนางแมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโกในวันศุกร์ (19 ม.ค.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่เฟดจะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ในวันเสาร์ (20 ม.ค.)
ทั้งนี้ เฟดจะเริ่มเข้าสู่ช่วง Blackout Period ในวันที่ 20 ม.ค. ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 ม.ค.นี้
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่า เป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุน หลังนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นายบอสติก กล่าวว่า “เนื่องจากผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้รับ ผมจึงได้รวมความคืบหน้าที่ไม่คาดคิดเกี่ยวกับเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไว้ในการวิเคราะห์แนวโน้มของผม ผมจึงได้ปรับคาดการณ์กำหนดเวลาที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสู่ระดับปกติในไตรมาส 3 จากเดิมที่ผมคาดไว้ในไตรมาส 4”
อย่างไรก็ดี นายบอสติกได้เปิดช่องสำหรับการคาดการณ์กำหนดเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าไตรมาส 3 โดยระบุว่า “ถ้าเรายังคงเห็นว่าข้อมูลเงินเฟ้อสามารถสร้างความประหลาดใจโดยปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่ผมอาจจะสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสู่ระดับปกติก่อนไตรมาส 3 แต่ข้อมูลดังกล่าวจะต้องสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริง”
นายบอสติก กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของเฟดคือการกำหนดนโยบายที่ไม่เข้มงวดเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องเข้มงวดเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ราคาดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง