BBL ทำแบงก์วงแตก.!?

หนึ่งในธีมหุ้นที่นักลงทุนหยิบมาเล่นกันในช่วงที่ผ่านมาคือธีมงบแบงก์ ซึ่งแม้นักวิเคราะห์ไม่ได้มองว่างบแบงก์จะดีเลิศประเสริฐศรี แต่เป็นหุ้นที่ราคาต่ำกว่า Book Value


หนึ่งในธีมหุ้นที่นักลงทุนหยิบมาเล่นกันในช่วงที่ผ่านมาคือธีมงบแบงก์ ซึ่งแม้นักวิเคราะห์ไม่ได้มองว่างบแบงก์จะดีเลิศประเสริฐศรี แต่เป็นหุ้นที่ราคาต่ำกว่า Book Value แถมเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกต่างหาก จึงเป็นสองแรงดึงดูดให้นักลงทุนเฮโลมาเก็งกำไรหุ้นแบงก์…

โดยหนึ่งในหุ้นแบงก์นัมเบอร์วันของนักวิเคราะห์และนักลงทุน คงหนีไม่พ้นแบงก์ใหญ่ย่านสีลมอย่างธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ที่ถูกมองว่าแกร่งสุดในปฐพี แม้กำไรจะไม่พุ่งปรู๊ดปร๊าด แต่มักเติบโตแข็งแกร่ง…

แต่ผิดคาดแฮะ…เพราะ BBL เปิดงบไตรมาส 4/2566 ออกมามีกำไรสุทธิแค่ 8,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 7,569 ล้านบาท แต่ลดลง 21.9% จากไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 11,350 ล้านบาท…ตัวเลขกำไรดังกล่าว นอกจากต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Consensus ที่ 10,658 ล้านบาทแล้ว ยังต่ำกว่าตัวเลขต่ำสุดที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 9,459 ล้านบาท ส่วนสูงสุดคาดการณ์ไว้ที่ 12,435 ล้านบาท

กำไรที่ต่ำลงมีข้อสังเกตว่าเกิดจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ที่โป่งผิดปกติ อยู่ที่ 8,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 4,305 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 5,248 ล้านบาท…ก็น่าคิดว่า ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ว่า เป็นค่าอะไรกันนะ..??

บ้างก็ว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการ consult เกี่ยวกับการดำเนินการระบบ AI…เอ๊ะ ไปซุ่มทำตอนไหนเนี่ย..?? บ่มีข่าวคราว…

มาต่อกันที่แบงก์ใหญ่ย่านฝั่งธนฯ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 ที่ 9,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 194.20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,191 ล้านบาท แต่ลดลง 16.79% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 11,282 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

สิ่งที่กังวลสำหรับ KBANK คือการตั้งสำรองหนี้เสีย ซึ่งในไตรมาสนี้ดูดีขึ้น ลดลงเหลือ 26,387 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 28,357 ล้านบาท และในไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 27,294 ล้านบาท…แต่ถ้าไปดูตัว NPL ในไตรมาสนี้ ขยับขึ้นมาที่ 3.19% จากไตรมาส 3/2566 ที่ 3.11% ทำให้สัญญาณดูแย่ลง

ฟากแบงก์ย่านพระราม 3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY แม้รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ 7,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 7,392 ล้านบาท แต่ลดลง 4.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 8,096 ล้านบาท

จุดที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับ BAY คือ การตั้งสำรองหนี้เสียที่สูงปรี๊ดดดผิดวิสัย โดยในไตรมาสนี้ตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 12,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.3% เทียบกับไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 6,955 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 43.1% เทียบกับในไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 9,052 ล้านบาท เป็นผลมาจากกิจการที่ควบรวมมาจากต่างประเทศ

ค่อยโล่งอก..!! ตอนแรกคิดว่าจะเกิดจากหนี้เสียของบริษัทลูก ๆ ซะแล้ว..!?

อีกแบงก์ที่มีการตั้งสำรองหนี้เสียสูงปรี๊ดดดผิดปกติ คือแบงก์ย่านห้าแยกลาดพร้าว ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB โดยในไตรมาส 4/2566 ตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 9,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.2% เทียบกับไตรมาส 4/2565 ซึ่งอยู่ที่ 4,802 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 114.2% เทียบกับไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ 4,354 ล้านบาท

ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาสนี้ TTB ทำได้ 4,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,847 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 4,735 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะที่แบงก์ใหญ่ย่านพหลโยธิน บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 ที่ 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 7,143 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 13.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 9,663 ล้านบาท ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในไตรมาสนี้ SCB ยังตั้งสำรองฯ ระดับสูงที่ 9,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% เทียบกับไตรมาส 4/2565 ซึ่งอยู่ที่ 7,079 ล้านบาท แต่ลดลง 23.8% เทียบกับไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ 12,245 ล้านบาท

ปิดท้ายที่แบงก์ใหญ่ย่านสุขุมวิท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 ที่ 6,111 ล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 8,109 ล้านบาท และลดลง 40.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 10,282 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ที่น่าต๊กกะใจ ในไตรมาสนี้ KTB ตั้งสำรองฯ สูงปรี๊ดดดถึง 13,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.5% เทียบกับไตรมาส 4/2565 ซึ่งอยู่ที่ 7,532 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 60.2% เทียบกับไตรมาส 3/2566 ซึ่งอยู่ที่ 8,157 ล้านบาท เพื่อยังรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ 181.2% รวมทั้งรองรับความเสี่ยงสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน

แหม๊…อยากรู้จังลูกค้ารายใหญ่ที่ว่าเป็นไผกันนะ..??

ที่น่าตั้งข้อสังเกต การตั้งสำรองฯ ที่สูงปรี๊ดดดของหลาย ๆ แบงก์ สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังเปราะบาง แบงก์จึงต้องยกการ์ดสูงไว้ก่อน…ส่วนจะถึงขั้นวิกฤตอ๊ะป่าว..? อันนี้ไม่รู้

แต่ถ้าลองไปถามฟากรัฐบาลก็คงได้คำตอบว่าวิกฤตแล้ว ในขณะที่องค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. ยืนยันว่ายังไม่วิกฤต…ขึ้นอยู่กับมุมมองแหละฮะ ท่านผู้ชม.!

…อิ อิ อิ…

Back to top button